“ปรีดา” ผู้อำนวยการคนใหม่ เปิดวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อน “องค์การสะพานปลา”

21 ก.ค. 2564 | 08:10 น.

บิ๊ก ผอ.องค์การสะพานปลา โชว์วิสัยทัศน์ ลุยสานต่อพันธกิจ โปรเจ็กต์ เก่า-ใหม่สู่เป้าหมายสร้างผลกำไร พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้า แพปลา อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตินี้ ไปด้วยกัน

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นายปรีดา  ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา(อสป.) มารับตำแหน่งใหม่ และ ได้เริ่มต้นการทำงานเป็นวันแรก นั้น ต่อจาก ดร.มณเฑียร อินทร์น้อย ที่ลาออกไปด้วย เหตุผลส่วนตัวนั้น ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ

 

ปรีดา ยังสุขสถาพร

 

นายปรีดา  ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา(อสป.) เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์หลังเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า จะเร่งดำเนินการฟื้นฟูกิจการ และทำให้ อสป.มีรายได้ และผลกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกๆปี แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่จะทำก่อน คือ เปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานของคนในองค์กร เพื่อให้องค์กรของ อสป.อยู่รอดได้แบบแข็งแรงและมั่นคงในอนาคต

 

“ยอมรับว่าปัจจุบันสถานการณ์ การระบาดของโรคโควิด – 19 คือ อุปสรรคสำคัญในการดำเนินงาน แต่หากทุกคนยังใช้เป็นข้ออ้าง หรือเป็นข้อแก้ตัวในการทำงานทุกๆ ครั้ง ก็คงไม่ดี  ต้องปรับและเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ใช้วิกฤติเป็นโอกาส ว่ามีอะไรที่สามารถทำได้บ้าง  ซึ่งโดยส่วนตัวผมเชื่อว่า มีอะไรหลายๆ อย่างที่เราสามารถทำได้ไม่มากก็น้อย และผมจะไม่ใช้ช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคโควิด -19 เป็นข้ออ้าง"

 

บรรยากาศ

แต่จะพยายามหาวิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือและดูแลผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้า แพปลาอย่างใกล้ชิดและเต็มที่ ซึ่งก็อยากให้พนักงานทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน อย่าหยุดนิ่ง อย่านิ่งเฉย เพื่อก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

 

นายปรีดา กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนองค์กร ต้องบอกก่อนว่าองค์กรไม่มีตัวตน องค์กรประกอบไปด้วยคน เพราะฉะนั้นการจะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการได้ ทั้งการฟื้นฟูกิจการ และสร้างผลกำไรเติบโตอย่างยั่งยืน คนต้องเป็นผู้ขับเคลื่อน และทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ถ้าเป้าหมายเป็นนามธรรมก็คือ การทำให้ยั่งยืน อยู่รอด และช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประมงไทยด้วย  ถ้าเป้าหมายเป็นรูปธรรมก็คือ กำไร

 

ท่าเรือประมงอ่างศิลา

 

ดังนั้น การเข้ามารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการใน ครั้งนี้ ผมจะสานต่องานเก่า และคิดริเริ่มงานใหม่ๆ ต่อเนื่อง  ซึ่งงานเก่าจะไม่ทิ้งและพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เช่น ตลาดประมงอ่างศิลา จ.ชลบุรี ที่ชูจุดขายเป็น “ Fish Marketing Organization” ตลาดปลากลางทะเลแห่งแรกในประเทศไทย ที่เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.64 ที่ผ่านมานั้น

 

พร้อมเดินหน้าพัฒนาต่อ และพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้าอย่างเต็มกำลัง ให้สามารถขายสินค้าได้ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ ขณะเดียวกันก็จะเริ่มที่การปรับเปลี่ยนองค์กรให้ดูทันสมัยมากขึ้น พร้อมสร้างแบรนด์ “FMO” (FISH MARKETING ORGANIZATION) ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษขององค์การสะพานปลา ให้คนภายนอกรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น

ปูทะเล

ส่วนสำนักงานสะพานปลากรุงเทพ ซอยเจริญกรุง 58 เขตสาทร ที่ขณะนี้ได้ประกาศปิดสถานที่ซื้อขายสัตว์น้ำเป็นการชั่วคราว ไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 31 ก.ค.64  รวม 13 วัน เพื่อทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรค เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการป้องกันที่ อสป.ให้ความสำคัญและเข้มงวดมาโดยตลอด เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

 

ทั้งนี้ สะพานปลากรุงเทพ มีแผนเปิดให้บริการขายสินค้าหลากหลาย “ตลาดเช้า”ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย หลังจากที่เปิดขายกลางคืน ตั้งแต่เวลา 23.00 – 06.00 น.มานาน เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนทั่วไป ที่เป็นลูกค้ารายย่อย ที่ต้องการบริโภคอาหารทะเลคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารฟอร์มาลีน