สนค.ชี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์รุ่ง  แนะปรับตัว ตอบรับกระแสรักษ์โลก

20 ก.ค. 2564 | 08:31 น.

สนค.ชี้ตลาดบรรจุภัณฑ์ยุคโควิด-19 ดันการค้าบรรจุภัณฑ์โลกไตรมาสแรก ทะลุกว่าหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเพิ่มขึ้น13% ชี้มีโอกาสโตต่อเนื่องปีละ 7.5% แนะผู้ประกอบการไทยนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เพื่อสร้างความได้เปรียบและตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกรักสุขภาพ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยผลการศึกษาตลาดบรรจุภัณฑ์ในยุคโควิด-19 ของ สนค. เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย พบว่าบรรจุภัณฑ์เป็นที่ต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสความนิยมซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซ และความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยการค้าบรรจุภัณฑ์โลกในไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่า 110,985.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 57,813.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% และการนำเข้ามูลค่า 53,172.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% ผู้ส่งออกและนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และจีน

สนค.ชี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์รุ่ง   แนะปรับตัว ตอบรับกระแสรักษ์โลก
ทั้งนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีมูลค่าส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2564 รวม 844.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 123.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.8% สัดส่วน 14.6%

ญี่ปุ่น 122.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.6% สัดส่วน 14.5% เวียดนาม 78.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.6% สัดส่วน 9.3% อินโดนีเซีย 72.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.9% สัดส่วน 8.6% และจีน 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.2% สัดส่วน 6% โดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ไทยส่งออกมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 78.2% ของมูลค่าส่งออกบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของไทย และครองส่วนแบ่ง 1.7% ในตลาดโลก ซึ่งจุดแข็งของไทยคือ มีความได้เปรียบเชิงเทคโนโลยีและคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ เมื่อเทียบกับคู่แข่งหลักอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

สนค.ชี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์รุ่ง   แนะปรับตัว ตอบรับกระแสรักษ์โลก

“ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย Businesswire (2001) คาดว่ามูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์โลกจะขยายตัว 7.5% ต่อปี ระหว่างปี 2562-2570 ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงโอกาสทางการค้าและส่วนแบ่งตลาดที่กำลังเติบโต โดยปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สนค.ชี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์รุ่ง   แนะปรับตัว ตอบรับกระแสรักษ์โลก

 ซึ่ง McKinsey & Company (2020) ได้สำรวจทัศนะของผู้บริโภคใน 10 ประเทศ ต่อคุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์ พบข้อสรุปที่น่าสนใจ 3 ประเด็น ที่มีผลต่อการผลิตบรรจุภัณฑ์ ประเด็นแรก ผู้บริโภคต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยด้านอาหารและสุขอนามัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย และบราซิล เป็นต้น ประเด็นที่ 2 ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคในยุโรปและญี่ปุ่นกังวลมากที่สุด คือ การเป็นขยะทะเล

สนค.ชี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์รุ่ง   แนะปรับตัว ตอบรับกระแสรักษ์โลก

ขณะที่ผู้บริโภคในเอเชียกังวลเรื่องมลพิษทางน้ำและอากาศ นอกจากนี้ ผู้บริโภคกว่า 50% ในจีน อินโดนีเซีย สหรัฐฯ บราซิล เยอรมนี อิตาลี อินเดีย และสหราชอาณาจักร ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในญี่ปุ่นและฝรั่งเศส มีผู้บริโภคต่ำกว่า 50% ที่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้น และประเด็นที่ 3 ผู้บริโภคในแต่ละประเทศเห็นต่างกันว่า บรรจุภัณฑ์ชนิดใดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภคสหรัฐฯ และยุโรปเห็นว่า กล่องกระดาษ ขวดแก้ว และเหยือกแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ขณะที่ผู้บริโภคจีน บราซิล และอินโดนีเซีย ยกให้ฟิล์มพลาสติกชนิดสลายตัว (Compostable Plastic) หรือรีไซเคิลได้ และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อมในมุมมองของผู้บริโภคทุกประเทศ คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลาสติก กระดาษ และอะลูมิเนียมฟอยล์ อยู่ รวมกัน หรือบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) อาทิ ถุงบรรจุขนมขบเคี้ยว ถุงอาหารแช่แข็ง และถุงบรรจุน้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น

สนค.ชี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์รุ่ง   แนะปรับตัว ตอบรับกระแสรักษ์โลก

อย่างไรก็ตามสุขอนามัยและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เป็นแนวโน้มที่โดดเด่นของบรรจุภัณฑ์ในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยควรก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อสร้างจุดแข็งทางการตลาด และคว้าโอกาสการเติบโตของธุรกิจ รับจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย สามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ และอาจใช้เทคนิคการผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Post-Consumer Resin) โดยการติดฉลากว่าเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค