กระทุ้งรัฐเร่งไฟเขียวนำเข้า ไกลโฟเซต “มอนซานโต้” โผล่เบ่งเค้กปี 63

15 ก.ค. 2564 | 00:00 น.

วงการรอลุ้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไฟเขียวนำเข้าไกลโฟเซตปี 64 หลังปี 63 จำกัดการใช้ยังนำเข้ามากว่า 3.5 หมื่นตัน เผย “มอนซานโต้” โผล่แบ่งเค้กขายให้เกษตรกรไทย  3 สมาคมสารเคมี ร่อนหนังสือเร่งเปิดโควตานำเข้า หวั่นในประเทศขาดแคลน ดันราคาพุ่ง แฉมีบางบริษัทได้รับอนุมัติแล้ว

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้จำกัดการใช้สาร “ไกลโฟเซต” เนื่องจากพบว่า ยังมีการใช้ใน 160 ประเทศ ขณะที่ปี 2563 ทาง กรมวิชาการเกษตร ได้อนุมัติให้นำเข้าไกลโฟเซต 3.5 หมื่นตัน ส่วนการนำเข้าในปี 2564 วงการรอลุ้นและมีความคืบหน้าตามลำดับ

พิเชษฐ์  วิริยะพาหะ

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  เรื่อง "ไกลโฟเซต"ไม่อยากใช้คำว่าโควตา แต่เป็นการอนุญาตนำเข้าปกติตามกฎหมายจำกัดการใช้ (ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ) โดยตัวเลขในปี 2564 มีตัวเลขนำเข้าออกมาแล้ว ซึ่งปริมาณน่าจะลดจากปีที่แล้ว (2563 นำเข้า 3.5 หมื่นตัน) โดยวิธีการคำนวณการนำเข้าสารเคมีที่จำกัดการใช้จะพิจารณาจากพื้นที่ปลูกพืช 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย, ปาล์มน้ำมัน, ยางพารา, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง  และไม้ผล

 

นอกจากนี้ยังพิจารณาผู้เข้าอบรม และเกษตรกรเพื่อจำกัดการใช้สาร ว่ามีจำนวนเท่าไร ซึ่งต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดคือผู้ซื้อ ผู้ใช้ และร้านค้า ต้องมีใบอนุญาต คาดภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะเคาะตัวเลขว่าจะอนุญาตนำเข้าปี 2564 มาในปริมาณเท่าใด

 

จารึก ศรีพุทธชาด

นายจารึก ศรีพุทธชาด นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า เรื่องโควตาการนำเข้าไกลโฟเซต ทางสมาคมฯได้ทำหนังสือหารือไปยังกรมวิชาการเกษตร โดยร่วมกับสมาคมต่างๆ อาทิ สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย หรือ ไททา เพื่อขอทราบนโยบายที่จะมีการแจกจ่ายโควตาให้กับบริษัทต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร มีหลักการพิจารณาอย่างไร ถึงวันนี้ยังไม่ทราบความชัดเจน โดยทางกรมตอบกลับมาว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ถ้าขั้นตอนเป็นอย่างไรหรือคืบหน้าอย่างไรจะแจ้งให้ทราบ

 

“สิ่งที่ทางกรมดำเนินการในตอนนี้ล่าช้า ในช่วงที่เกษตรกรมีความจำเป็นต้องใช้ พร้อมกันนี้ได้ปรึกษาทางทีมกฎหมายว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งทางทีมให้ทำหนังสือติดตามเรื่องไปเป็นครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ตามกระบวนการไปก่อน ว่าแต่ละครั้งตอบอย่างไร อย่างไรก็ดีหากมีความล่าช้าในการอนุมัตินำเข้าไกลโฟเซต ของในประเทศจะขาดแคลน ทำให้สินค้ามีราคาแพง จะกระทบกับเกษตรกร”

 

อย่างไรก็ดีจะมีการประชุมกับ 3 สมาคมในเร็ว ๆ นี้ เพื่อดำเนินการขั้นต่อไป ซึ่งยอมรับว่าหากนโยบายรัฐไม่มีความชัดเจน ในอนาคตจะต้องเปลี่ยนไปเป็นเกษตรอินทรีย์ ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ของรัฐบาล ที่ประกาศลด ละ เลิก ใช้สารเคมี ซึ่งทางบริษัทผู้ค้าจะต้องปรับสัดส่วนธุรกิจ อย่างไรก็ตามสารเคมีคงเลิกใช้ไม่ได้เพราะโรค แมลง และวัชพืช ไม่สามารถใช้ชีวภัณฑ์อย่างเดียวได้

 

ปริมาณนำเข้าไกลโฟเซต ย้อนหลัง 3 ปี

แหล่งข่าวจากวงการค้าสารเคมี เผยว่า ได้รับการแจ้งจากบางบริษัทว่า ภาครัฐมีการปล่อยโควตานำเข้าไกลโฟเซตปี 2564 แล้ว แต่สาเหตุที่ยังไม่ได้นำเข้ามา เนื่องจากติดปัญหาเรื่องราคาวัตถุดิบสารเคมีแพงขึ้น ประกอบกับประเทศจีนไม่มีของ เพราะส่งไปขายที่อเมริกาใต้ อาทิ ประเทศบราซิล เป็นต้น โดยขายได้ดีกว่า และได้ราคาดีกว่ามาขายประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ราคาขายสารเคมีต่อลิตรเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อลิตร ปัจจุบันปรับขึ้นมา 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อลิตร

 

 “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบข้อมูลในปี2563 กรมวิชาการเกษตร ได้อนุมัติให้ 39 บริษัท นำเข้าไกลโฟเซต  ประกอบด้วย  บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด (บจก.), บจก.กรีนลีฟส์, บจก.การันตี โพลีเทรด, บจก.กิจเสรีเคมีเกษตร, บจก.โกรว์ เคมีคอล, บจก.โกลบอล ครอปส์, บจก.ควอลิเคม (1994), บจก. คอร์ป โพรเทคชั่น อะโกร (ประเทศ ไทย), บจก.เคนโซ แอคแคร์, บจก.เคมเทรด, บจก.เคโมคราฟ, บจก. โค้วตงเซ้ง, บจก.จิงโจ้ทอง, บจก.เจ.ซี.พี. อะโกรเทค กรุ๊พ, บจก. เจดับบลิว คอมเมอร์เชียล ซัพพลายส์

 

 บจก.เจที อะกริเทค, บจก.ซีอะโกรเทค, บจก.ซิงหนง (ประเทศไทย), บจก. ซุพพีเรียร์ เคมีอุตสาหกรรม (ประเทศไทย), บจก.ไซโนเคม ฟาร์ม แคร์ (ประเทศไทย), บจก.ไทยเฮอบิไซด์, บจก.โปรเจ็คฟิลด์ จำกัด, บจก.ฟ๊อกซ์ ฟอร์มูเลท, บจก.ฟอร์เวิร์ด (ประเทศไทย 1989), บจก.ฟาร์เมอร์ ซัพพลาย, บจก. มาแฟค เคมีคอล

 

 บจก.มาสเตอร์ อโกรเทค, บจก.มิตรสมบูรณ์, บจก. มิลเลนเนียม ฟาร์ม, บจก.ยูนิพรีมา, บจก.ยูโนเคม, บจก.เรนโบว์ อโกรไซเอนเซส, บจก.วินเทค อะโกร, บจก. เอ็กซตร้า อโกรเคมีคอล, บจก.เอเวอร์สปริง อโกรเคม, บจก.แอ็กโกร (ประเทศไทย), บจก.แอ็กโฟรีแพ็กซ์ อินดัสตรีส์, บจก. แอทลาส อโกรเทรด และบจก.ไอ ซี พี ลัดดา

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,696 วันที่ 15 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564