เช็กเลย หลักเกณฑ์ เยียวยา 1,800 ล้านบาท ผู้เพาะเลี้ยงจระเข้

14 ก.ค. 2564 | 07:06 น.

เช็กที่นี่ กรมประมง แจ้งข่าวดี ครม.ไฟเขียว เยียวยาโควิด  อัดสินเชื่อเสริมสภาพ ผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ 1,800 ล้านบาท พร้อมเปิดหลักเกณฑ์ เคลียร์ชัด เปิดรับสมัคร ต.ค.นี้ ใครสนใจ สมัครด่วน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายมอบหมายให้กรมประมงเร่งเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากตลาดทั้งภายในและต่างประเทศประสบปัญหาทางด้านการค้าด้วยปัจจัยและข้อจำกัดต่างๆ

 

ส่งผลให้จระเข้ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถนำไปใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กว่า 600,000 ตัว ในฟาร์มเพาะเลี้ยงทั่วประเทศไม่สามารถจำหน่ายและแปรรูปเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ เป็นเหตุให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องขาดสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ มีความคืบหน้าตามลำดับ

 

เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์

 

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ได้มีมติอนุมัติหลักการโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ตามที่ การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงเสนอ ภายใต้วงเงินสินเชื่อรวม 1,800 ล้านบาท และยังมีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับค่าชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 270 ล้านบาท เป็นการรับภาระช่วยเหลือด้านดอกเบี้ย

 

ทั้งนี้ จะทำการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้รายบุคคลในอัตราดอกเบี้ย MRR ต่อปี ส่วนผู้กู้ที่เป็นนิติบุคคลอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี โดยภาครัฐจะชดเชยดอกเบี้ยแทนผู้กู้ อัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่กู้เป็นระยะเวลา 5 ปี และค่าดำเนินการของกรมประมงในการชี้แจง ประชาสัมพันธ์โครงการ และติดตามโครงการ จำนวน 3.85 ล้านบาทสำหรับโครงการดังกล่าวฯ จะแบ่งความช่วยเหลือในการสนับสนุนสินเชื่อออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

 

  1. เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ ที่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หรือเกษตรกรที่ได้แจ้งการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ประเภทกิจการการเพาะเลี้ยงจระเข้ ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 600 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงจระเข้ให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการจำนวนจระเข้ 600,000 ตัว ตัวละ 1,000 บาท

 

  1. ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562โดยมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1,200 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการแปรรูปจระเข้ จำนวนจระเข้ 600,000ตัว ตัวละ 2,000  บาท

 

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการโครงการดังกล่าวฯ แล้ว กรมประมงจะแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำข้อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ และจะร่วมกับ ธ.ก.ส. ในการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวฯ ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้รับรู้

ฟาร์มจระเข้

เพื่อดำเนินการยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการได้ในระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึง เมษายน 2565 โดยพร้อมจะทยอยปล่อยสินเชื่อได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึง เดือนกันยายน 2565 และจะมีการติดตามการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

ทั้งนี้ กรมประมงเชื่อมั่นว่าการเสริมสภาพคล่องด้วยโครงการจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งระบบ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" ให้สามารถฝ่าฟันผลกระทบดังกล่าวได้ และกลับมาประกอบธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้กับประเทศได้อีกครั้ง

 

นอกจากนี้ กรมประมงยังมีการวางแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมบริโภคเนื้อจระเข้ในตลาดภายในประเทศ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมทั้งเตรียมแผนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จระเข้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรค "โควิด-19" ร่วมกับสมาคม ชมรม ที่เกี่ยวข้องต่อไป