ประธานบอร์ด อ.ส.ค. คนใหม่ลั่น ดันผู้นำอุตฯโคนมครบวงจร เร่งแก้สต๊อกล้น

05 ก.ค. 2564 | 11:39 น.

“ปริญญา” ประธานบอร์ด อ.ส.ค.คนใหม่ฟิตเต็มร้อย ชูนโยบายเร่งด่วน ดันอ.ส.ค. ผู้นำนอุตสาหกรรมโคนมครบวงจร พร้อมเดินหน้าเร่งแก้ไขปัญหาในองค์กร-เร่งระบายสต๊อกผลิตภัณฑ์นมที่ล้น เพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน เคลื่อนอาชีพการเลี้ยงโคนมเกษตรกรเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน

นายปริญญา   เพ็งสมบัติ    ประธานกรรมการ(บอร์ด)องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย( อ.ส.ค.) เผยถึงนโยบายและทิศทางในการบริหารในโอกาสเข้ารับการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ อ.ส.ค. คนใหม่ ว่า  ปี 2564 เป็นปีที่มีความท้าทายยิ่งสำหรับ อ.ส.ค. ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก และกระทบต่อการดำเนินงานของ อ.ส.ค. ด้วยเช่นกัน

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเกินกว่าครึ่งปีงบประมาณ 2564 พบว่ารายได้และผลประกอบการจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมยังไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีความต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อการบริโภคของประชาชนโดยทั่วไปรวมถึงการบริโภคผลิตภัณฑ์นมด้วย ทั้งนี้หากการบริโภคลดลงย่อมส่งผลต่อยอดขายผลิตภัณฑ์นมลดลงด้วย แต่องค์กรยังคงต้องรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเป็นไปอย่างปกติ จึงส่งผลให้มีสต๊อกผลิตภัณฑ์นมสะสมเป็นจำนวนมาก 

จากเหตุผลดังกล่าวเป็นความจำเป็นที่องค์กรต้องระมัดระวังการบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวทางการเงินในช่วงเวลาปัจจุบัน ควบคู่กับการวางรากฐานของการบริหารจัดการองค์กรที่มีความเป็นเลิศ ให้ อ.ส.ค.อยู่รอดและมีการเจริญก้าวหน้าเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศด้านอุตสาหกรรมโคนมแบบครบวงจรในอนาคต พร้อมกับการสืบสานอาชีพการเลี้ยงโคนม ให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเกิดขึ้นจากจำนวนคู่แข่งทางการค้า รวมถึงการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) และวิถีชีวิตใหม่ของคนไทย โดยมีแนวนโยบายที่มอบให้กับฝ่ายบริหารของ อ.ส.ค. 2 ด้านคือ นโยบายเร่งด่วน และนโยบายด้านการพัฒนาองค์กร ให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมโคนมแบบครบวงจรในอนาคต 

ประธานบอร์ด อ.ส.ค. คนใหม่ลั่น ดันผู้นำอุตฯโคนมครบวงจร เร่งแก้สต๊อกล้น

สำหรับนโยบายเร่งด่วน  จะเร่งรัดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการตลาดเพื่อนำการผลิต จัดทำแผนตลาดเชิงรุก มุ่งเน้นให้ผลิตภัณฑ์นมถึงผู้บริโภคได้สะดวก รวดเร็ว กระจายสินค้าให้ครอบคลุมทุกช่องทางการจำหน่ายและทุกพื้นที่ มีการระบายผลิตภัณฑ์นมที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสต็อกผลิตภัณฑ์นมที่มีปริมาณมาก และเกิดประโยชน์ต่อองค์กรสูงสุด โดยดำเนินการใน 3 ด้านคือ 

1.การจัดทำแผนการตลาดเชิงรุกโดยวางแผนร่วมกับตัวแทนจำหน่ายเพื่อระบายสต็อกผลิตภัณฑ์นม   2.เร่งรัดการดำเนินงานขององค์การในด้านการลดค่าใช้จ่าย ปรับแผนงานปี 2564   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการจัดการภายในองค์กรและ 3.เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในด้านบุคลากรและแผนธุรกิจ  สนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้ทำงานตามความรู้ความสามารถของตนเอง ปรับการจัดทำแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป 

ส่วนนโยบายด้านการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมโคนมแบบครบวงจรในอนาคต จะเน้นให้ความสำคัญตลาดนำการผลิตเป็นการปรับเปลี่ยนต่อยอดธุรกิจ เพื่อเพิ่มตลาดสินค้าด้วยนวัตกรรม การเพิ่มจำนวนคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ หรือการสร้าง New S-curve ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกร ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

รวมถึงการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านบุคลากรให้มีความชาญฉลาด กระบวนการทำงานที่ได้มาตรฐานสากล และเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อให้ อ.ส.ค. มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยต้นทุนที่ต่ำ รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าและกำไรต่อหน่วยที่สูงขึ้น โดยเน้น 4 ด้าน คือ 1.ด้านการบริหารจัดการองค์กร  2.ด้านการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม   3.ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม และ 4.ด้านการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม 

ประธานบอร์ด อ.ส.ค. คนใหม่ลั่น ดันผู้นำอุตฯโคนมครบวงจร เร่งแก้สต๊อกล้น

 

“ผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจผลักดันให้ อ.ส.ค.ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ที่กำลังส่งผลกระทบต่อองค์กรอยู่ในขณะนี้ และเร่งขับเคลื่อนพัฒนา อ.ส.ค. เพื่อวางรากฐานความแข็งแรงให้กับองค์กรในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ อ.ส.ค.เป็นองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมโคนมแบบครบวงจรในอนาคตต่อไป” นายปริญญา  กล่าว 

ประธานบอร์ด อ.ส.ค. คนใหม่ลั่น ดันผู้นำอุตฯโคนมครบวงจร เร่งแก้สต๊อกล้น

สำหรับประวัตินายปริญญา เพ็งสมบัติ   ประธานกรรมการ อ.ส.ค.คนใหม่เคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง   รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจสหกรณ์  ตำแหน่งล่าสุดที่ปรึกษากรมส่งเสริมสหกรณ์  เป็นต้น  ส่วนด้านการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์บัณฑิต(การเกษตร) มหาวิทยาลัยรามคำแหง   ระดับปริญญาโทคณะพัฒนาบริหารศาสตร์ มหาบัณฑิต(รัฐประศาสนศาสตร์) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)   จากประสบการณ์จึงถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารธุรกิจได้เป็นอย่างดี