เครือ"ชิโน-ไทย" ผันตัวลุย"ธุรกิจกัญชง"

26 มิ.ย. 2564 | 22:30 น.

ฮือฮา บริษัท STPI เครือ"ชิโน-ไทย" ของตระกูลชาญวีรกูล ตั้งบริษัทลูกถือหุ้น 100% แตกไลน์ผันตัวจากธุรกิจเหล็ก มาลุยธุรกิจกัญชง

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 นางสาวสุพัตรา ยังตรง ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท เอสทีพี แอนด์ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 มีมติอนุมัติหลักการการดําเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชง พร้อมทั้งอนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อรองรับการดําเนินธุรกิจดังกล่าวโดยเฉพาะ

บริษัท จึงได้ดําเนินการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ถือหุ้นโดยบริษัท 100% ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 5 ล้านบาท จากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการขยายขอบเขตการลงทุน เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์จากกัญชง และกระจายความเสี่ยงของการดําเนินงานของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการกําหนดแผนการดําเนินงานเพื่อให้ได้มา ซึ่งใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ได้กําหนดไว้สําหรับการดําเนินธุรกิจดังกล่าวให้ถูกต้องและครบถ้วนต่อไป และรายการดังกล่าวไม่เข่าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยง และขนาดของรายการไม่เข้าข่ายเป็นรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่มีนัยสําคัญตามข้อกําหนดของคณะกรรมการกํากับตลาดทุนและตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.)

สำหรับบริษัท STPI ดำเนินธุรกิจงานแปรรูปและติดตั้งโครงสร้างเหล็ก ระบบท่อ โรงงานสำเร็จรูป และ ผลิตภัณฑ์เหล็กอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาคารรวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย

ผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก STPI

  1. บลจ.เกียรตินาคินภัทร (รับโอนจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล เพื่อการจัดการทรัพย์สินของนายอนุทิน) 164.59 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.13% ของทุนจดทะเบียน
  2. บริษัท เบสท์ ควอลิตี้ สกิลส์ จำกัด 77.88 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.79%
  3. นายยรรยง นิติสาโรจน์ 67.49 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.15%
  4. นายชวลิต ลิ่มพานิชย์ 64.9 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.99% และ
  5. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล 56.91 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.50%

ขณะที่โครงสร้างการบริหารปัจจุบันมีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ซึ่งเป็นบิดาของนายอนุทินเป็นประธานกรรมการ นายมาศถวิน ชาญวีรกูล น้องชายนายอนุทิน เป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการ

ผลการดำเนินงานปี 2563 พบว่า STPI มีรายได้รวม 1,982.09 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 836.68 ล้านบาท และงวดไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า มีรายได้รวม 396.29 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 44.31 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอีกตำแหน่งคือ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยถือเป็นผู้สนับสนุนนโยบายกัญชาเสรี มาตั้งแต่การหาเสียงก่อนจะได้รับเลือกตั้งเข้ามา และภายหลังได้ผลักดันให้ปลดล็อกพืชกัญชง พืชกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดและผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ผลิตภัณฑ์พืชกัญชง พืชกัญชา ในส่วนของราก ลำต้น และใบ ยกเว้นช่อดอกไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และนันทนาการ ซึ่งรวมถึงท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่มได้

ล่าสุดบริษัทจดทะเบียนในตลท.ที่มีนายอนุทิน ถือหุ้นใหญ่ 164.59 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10.13% ผ่าน บลจ.เกียรตินาคินภัทรได้จัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อรองรับการทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชงโดยเฉพาะ

นายอนุทินได้แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินช่วงเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 พบว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 4,248.83 ล้านบาท มีหนี้สิน 50.25 ล้านบาท โดยในทรัพย์สินมีพอร์ตหุ้น 3 แห่งคือ STPI มูลค่า 662.31 ล้านบาท บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC มูลค่า 1,724.47 ล้านบาทและบริษัท สหมิตรเครื่องกล จำกัด (มหาชน) มูลค่า 357.14 ล้านบาท และถือครองกองทุนบริษัทหลักทรัพย์กองทุนภัทร จำกัด (มหาชน) 494.09 ล้านบาท

ในส่วนของการถือครองกองทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด (มหาชน) วงเงินกว่า 494 ล้านบาทนั้น พบว่า นายอนุทิน ฝากหลักทรัพย์ประเภท Equity (ส่วนผู้ถือหุ้น) ไว้ 2 บริษัท คือ STEC มูลค่า 64.28 ล้านบาท และ STPI มูลค่า 407.53 ล้านบาท รวม 2 แห่งมูลค่า 471.81 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหลักทรัพย์ประเภท Alternative รวม 22,279,986 บาท

แหล่งข่าวจากจากนักบัญชีกล่าวว่า ถ้าเงินลงทุนของบลจ.เกียรตินาคินภัทรนั้นเป็นเงินในส่วนของนายอนุทินถือว่าหมิ่นเหม่และทับซ้อนทางผลประโยชน์ ในการกำกับนโยบาย และการมีส่วนได้ส่วนเสียของผู้เป็นรัฐมนตรีและรองนายกฯ เพราะเป็นผู้ได้ประโยชน์และทับซ้อนในเรื่องการแข่งขัน

ที่มา:หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564