จับเรือบรรทุกบุหรี่เถื่อน เรียกค่าปรับกว่า 700 ล้าน

24 มิ.ย. 2564 | 13:40 น.

สะท้านทะเล DSI สนธิกำลัง ทัพเรือภาค 3 ยึดบุหรี่เถื่อน ยี่ห้อ “JOHN BLACK”  จำนวน 1,900 ลัง  เรียก ขณะที่ ผู้ต้องหาพร้อมเรือสปีดโบ๊ท กำลังขนลำเลียง จับได้คาหนังคาเขา

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สนธิกำลังกับ ทัพเรือภาคที่ 3 (ทรภ.3) ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ จังหวัดกระบี่ สรรพสามิตพื้นที่กระบี่ สรรพสามิตภาค 9 สรรพสามิตพื้นที่ตรัง ด่านศุลกากรกันตัง  สถานีตำรวจน้ำตรัง ศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรวจค้นจับกุมเรือบรรทุกบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีในพื้นที่จังหวัดตรัง คิดคำนวณเป็นเงินค่าปรับจำนวนกว่า 700 ล้านบาท

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2564 กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายมเหสักข์ พันธ์สง่า ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และ นายพิเชฎฐ์ ทองศรีนุ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ร่วมกับทัพเรือภาคที่ 3 นำโดย พลเรือโท เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3

 

ยึดบุหรี่เถื่อน

 

พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 พลเรือตรี สุรัฎช์ ศิริวรรณนาวี รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 ได้มอบหมายให้ นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ นาวาโท คมสัน จ้อยลี ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าปฏิบัติการข่าว ทัพเรือภาคที่ 3 และเจ้าหน้าที่ทัพเรือภาคที่ 3 ลงพื้นที่ทำการสืบสวน กรณีกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดกฎหมายบริเวณชายแดนและชายฝั่งทะเล ตามเลขสืบสวนที่ 118/2564

 

สืบเนื่องจากได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีกลุ่มขบวนการค้าบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีทำการขนส่งบุหรี่ยี่ห้อ JOHN BLACK จำนวน 1,900 ลัง ซึ่งมีต้นทางมาจากต่างประเทศ โดยสำแดงว่าเป็นการส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่สาม โดยแจ้งขออนุญาตส่งออก ณ ท่าเรือ K.T.C. ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยเรือสินค้าชื่อ เดโช คาร์โก้ 89 เมื่อเรือออกจากท่าเรือและผ่านปากร่องน้ำกระบี่แล้วมุ่งหน้าไปทางเกาะลันตา และแล่นเข้าไปจอดยังบริเวณเกาะแหวน ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ในเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ

 

ปฎิบัติการ

โดยมีเรือสปีดโบ๊ท จำนวน 2 ลำ มารับบุหรี่ตามที่มีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า ซึ่งในระหว่างการขนถ่ายบุหรี่ลงใส่เรือสปีดโบ๊ทนั้น มีเรือสปีดโบ๊ทอีก 2 ลำ และเรือหางยาว ทำหน้าที่คอยเฝ้าและขับแล่นตรวจการณ์การลำเลียงบุหรี่กลับขึ้นฝั่งจังหวัดตรัง ซึ่งหน่วยงานร่วมบูรณาการได้สืบสวนสะกดรอยติดตามเรือเดโช คาร์โก้ 89 ที่ได้แล่นกลับเข้าฝั่งไทยผ่านปากร่องน้ำกันตัง ช่วงอำเภอกันตังและอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณ 10.30 น. หน่วยงานร่วมบูรณาการได้ประสานกับตำรวจน้ำจังหวัดตรัง ใช้เรือ ตรน.74 เข้าร่วมติดตามเรือเป้าหมายบริเวณคลองปะเหลียน - คลองเกาะเคี่ยม

 

ในขณะเดียวกัน ประสานให้เรือ ต.111 สังกัดหมวดเรือเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 จอดเรือตรวจการณ์ด้วยเรดาร์บริเวณปากแม่น้ำกันตัง ประกอบกับพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์และภาพถ่าย จนสามารถตรวจค้นและจับกุมเรือดังกล่าวได้ บริเวณพิกัด GPS 7°22'46.53" เหนือ  99°37'17.38" ตะวันออก ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง

 

 โดยบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีตามใบอนุญาตส่งออกและใบกำกับการขนย้ายสินค้าดังกล่าว เป็นเครือข่ายของกลุ่มผู้มีอิทธิพล ซึ่งเจ้าพนักงานสรรพสามิตคิดคำนวณเป็นมูลค่าภาษีที่รัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวน 34,308,300 บาท (สามสิบสี่ล้านสามแสนแปดพันสามร้อยบาทถ้วน) และคำนวนเป็นเงินค่าปรับจำนวน 686,166,000 บาท (หกร้อยแปดสิบหกล้านหนึ่งแสนหกหมื่นหกพันบาทถ้วน)

 

กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ตามบัญชีท้าย ข้อ 11 และข้อ 12 ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งคณะพนักงานสืบสวนจะได้ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อบูรณาการร่วมกัน ในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเตรียมเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อมีคำสั่งให้ทำการสอบสวนกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษต่อไป