พลังงานเร่งเดินหน้า บงกช-เอราวัณ รักษากำลังผลิตก๊าซช่วงรอยต่อ

04 มิ.ย. 2563 | 07:20 น.

เหลือระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี ที่แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ จะ สิ้นสุดสัมปทาน ในวันที่ 23 เมษายน 2565 และแหล่งบงกช จะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 7 มีนาคม 2566 ซึ่งหลังจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้ประมูลคว้าสิทธิ ในการเข้าดำเนินงานต่อระยะเวลาอีก 10 ปี ในรูปแบบ สัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี ที่จะต้องผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำรวม 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2565-2566 เป็นต้นไป แบ่งเป็น แหล่งเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดังนั้น ช่วงการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการของ แหล่งเอราวัณและบงกช จึงถือว่ามีความสำคัญ ที่จะต้องเตรียมการ และเริ่มวางแผนการเจาะหลุมสำรวจ การสร้างแท่นผลิตและท่อส่งก๊าซฯ รวมถึงการศึกษาการเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ เพื่อเตรียมผลิตก๊าซฯ ให้ได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต

จากกรณีดังกล่าวนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการดูแลทั้ง 2 แหล่ง ได้มีการเตรียมความพร้อมหรือการดำเนินงานในช่วงการเปลี่ยนผ่านสิทธินี้ไว้อย่างไร

พลังงานเร่งเดินหน้า  บงกช-เอราวัณ  รักษากำลังผลิตก๊าซช่วงรอยต่อ

                                        นายสราวุธ แก้วตาทิพย์

 

เร่งรื้อถอนแท่นหมดอายุ

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เพื่อให้การส่งมอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น และสามารถรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่อง ได้มีแนวทางปฏิบัติต่างๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากจากทุกฝ่ายเป็นไปด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคนิค หรือด้านสัญญาอื่นๆ ตลอดจนการให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐผู้รับมอบ สามารถเตรียมการก่อนเริ่มกิจการปิโตรเลียม ในพื้นที่สัมปทานก่อนวันสิ้นอายุสัมปทานได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมฯ ปตท.สผ. และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณได้มีการหารือกันมาอย่างต่อเนื่องในกระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความชัดเจนในการส่งมอบสิ่งติดตั้ง และ การรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเล ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบจะเก็บแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณที่มีอยู่ 191 แท่น ไว้จำนวน 142 แท่น และให้เชฟรอนฯไปดำเนินการรื้อถอน 49 แท่น ซึ่งได้มีการรื้อถอนไปแล้ว 7 แท่น เหลือ 42 แท่น ส่วนแหล่งบงกชส่งมอบให้รัฐราว 50 แท่น รัฐเก็บไว้ใช้ประโยชน์ราว 46 แท่น และ ปตท.สผ. จะรื้อถอน 4 แท่น

 

ปิดหลุมผลิตที่ไม่ใช้งาน

เมื่อมีความชัดเจนของจำนวนแท่นในการส่งมอบคืนให้กับรัฐแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมาดูว่า จำนวนหลุมผลิตที่มีอยู่ โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณมีอยู่ราว 4,800 หลุม แต่ผลิตอยู่จริงกว่า 1 พันหลุมนั้น ซึ่งจะมาพิจารณาต่อว่าหลุมที่ปิโตรเลียมหมดแล้ว เชฟรอนจะต้องทำการ ปิดหลุมหรือสละหลุม ในจำนวนกี่หลุม ที่จะมีการดำเนินงานตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

ขณะที่ ปตท.สผ. จะต้องวาง แผนการลงทุนในการก่อสร้างแท่นผลิต เพื่อนำไปวางทดแทนแท่นที่ถูกรื้อถอน และวาง แผนขุดเจาะหลุมผลิต เพิ่มเติม เพื่อรักษาระดับการผลิต เติมเต็มในช่วงรอยต่อ ซึ่งจะไม่กระทบต่อการดำเนินงานของเชฟรอน เพราะไม่ได้รอนสิทธิของเชฟรอนซึ่งยังคงผลิตได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมาทาง ปตท.สผ. ได้ส่งแผนงานและงบประมาณการดำเนินงานช่วงรอยต่อมาให้กรมฯ และได้พิจารณาอนุมัติไปแล้ว

“ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับทาง ปตท.สผ. และเชฟรอน มาเป็นระยะๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝ่ายด้วยดี รวมถึงประเด็น การถ่ายโอนพนักงานของเชฟรอน ไปเป็นพนักงานปตท.สผ. ว่าสุดท้ายแล้วจะออกมารูปแบบใดที่ไม่ให้การทำงานช่วงรอยต่อติดขัด”


พลังงานเร่งเดินหน้า  บงกช-เอราวัณ  รักษากำลังผลิตก๊าซช่วงรอยต่อ

ตั้งกองพีเอสซีบริหารงาน

อีกทั้ง การดำเนินงานของกรมฯ เพื่อให้กระบวนหรือการดำเนินงานตามขั้นตอน และสอดรับ สัญญาในรูปแบบพีเอสซี กรมฯได้มีการตั้งเป็นกองพีเอสซี โดยนำบุคลากรที่มีตำแหน่งต่ำกว่าระดับผู้อำนวยการกองมารวมไว้ด้วยกัน เพื่อจะได้ปฏิบัติงานได้ง่ายหรือไม่มีการใช้อำนาจของกรมฯ เข้าไปแทรกแซง เพราะกองนี้จะเป็นผู้ประสานงานโดยตรงกับผู้รับสัญญา คือ ปตท.สผ. ที่จะต้องส่งแผนการดำเนินงาน การลงทุน การจัดซื้อ ผ่านกองนี้ว่าในแต่ละปีจะดำเนินงานอย่างไร หากเกินอำนาจจะส่งเรื่องมาที่คณะอนุกรรมการพีเอสซี เช่น กรณี แผนงานและงบประมาณการจัดหาสินค้าและบริการประจำปี ที่สัญญามีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท แต่หากมูลค่าต่ำกว่านี้ ปตท.สผ. สามารถตัดสินใจได้เองไม่เข้าไปแทรกแซง แต่จะไปตรวจสอบในภายหลัง

 

ผลิตก๊าซช่วงรอยต่อไม่สะดุด

ทั้งนี้ กรมฯ มั่นใจว่าระยะเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 2 ปีนี้ การดำเนินงานช่วงรอยต่อยังเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ และเชื่อมั่นว่าเชฟรอนจะยังรักษาชื่อเสียงของตัวเองเอาไว้ เพราะที่ผ่านมา เชฟรอน ถือเป็นมหามิตรที่ช่วยประเทศไทยในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาอย่างต่อเนื่อง มีผลประโยชน์ร่วมกันจากการพัฒนา

ดังนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งจากการวิวัฒนาการของแต่ละประเทศ ที่ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถดำเนินงานได้เองในต้นทุนที่ถูกกว่า และเป็นเรื่องปกติเหมือนในหลายๆประเทศ จึงเชื่อว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ ในความเป็นมืออาชีพของเชฟรอนจะช่วยให้การดำเนินงานที่ร่วมงานกันมาตลอด 40 ปี ยังคงเดินหน้าใน การรักษากำลังผลิตปิโตรเลียมให้ต่อเนื่อง ต่อไปได้อย่างราบรื่น

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563