“STEC” ชิงเค้กเมกะโปรเจคต์ 4 หมื่นล้าน

13 มี.ค. 2563 | 06:45 น.

“STEC” ลุยประมูลเมกะโปรเจคต์ 4 หมื่นล้าน เตรียมเจรจาพันธมิตรลงทุน“รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้าน ตั้งเป้าเข้าประมูลรถไฟทางคู่เฟส 2 -รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ส่วนต่อขยาย) ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม.

 

 

 

 

 

 นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เปิดเผยว่า ในปี 2563 บริษัทคาดว่าจะมีการประมูลงานก่อสร้างของภาครัฐประมาณ 2-3 แสนล้านบาท โดย STEC ตั้งเป้าหมายว่าจะได้รับงานมือ (Backlog) เพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท

 

 สำหรับเป้าหมาย Backlog มูลค่า 40,000 ล้านบาทนั้น นับรวมการประมูลเมกะโปรเจ็คซึ่งบริษัทยื่นข้อเสนอต่ำที่สุดและอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาจำนวน 3 สัญญา ได้แก่ งานดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี จำนวน 2 สัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาสัญญาและคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม งานโยธาของสัญญา O&M ทั้ง 2 ฉบับมีมูลค่าไม่มากนัก รวมกันประมาณ 5-6 พันล้านบาท

 

 ขณะเดียวกันมีโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจำนวน 1 สัญญา ซึ่งกองทัพเรือและกลุ่มบริษัทเพิ่งเริ่มเจรจาสัญญาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และอาจจะเจรจาจบภายในเดือนนี้ เพื่อให้ลงนามสัญญาได้ตามเป้าหมายในเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต้องการให้ลงนามสัญญาได้โดยเร็วที่สุด แต่ขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการเจรจาได้ จนกว่าจะลงนามสัญญา เพราะเป็นเงื่อนไขในการประมูล

 

 นายภาคภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีผู้ยื่นประมูลรายอื่นระบุว่า โมเดลธุรกิจของบริษัทและกลุ่มพันธมิตรอาจจะไม่สามารถทำได้จริงนั้น

 

เรายื่นเงื่อนไขไปตรงตามเอกสารเสนอโครงการ (RFP) ส่วนเรื่องโมเดลธุรกิจต้องรอกองทัพเรือเปิดเผยข้อมูลแล้วจะเข้าใจ โดยเราไม่ได้ยื่นข้อเสนอพิเศษไปนอกเหนือ RFP”

 

 ทั้งนี้ โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะแบ่งการก่อสร้างเป็นเฟสๆ ซึ่งเฟสที่ 1 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปีและมีวงเงินงานโยธาประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

 

 ทั้งนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตรรายเดิม ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ในนามกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) เพื่อเตรียมประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดสาย มูลค่ารวม 1.42 แสนล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี ในปีนี้ ซึ่งโครงการนี้มีวงเงินลงทุนงานโยธาประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท

 

 ขณะเดียวกันกลุ่ม BSR ได้เจรจากับพันธมิตรใหม่จำนวน 1-2 ราย ซึ่งเป็นพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เข้าร่วมประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยพันธมิตรใหม่นี้จะเน้นการใส่เงินลงทุนเข้าในโครงการเป็นหลัก  โดย STEC ยังตั้งเป้าหมายจะเข้าประมูลโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 และก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ส่วนต่อขยาย) ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร วงเงินงานโยธา 2.5 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทและพันธมิตรเป็นผู้รับสัมปทาน

 

 สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องผู้ชนะการประมูลก่อสร้างทางวิ่งแห่งที่ 3 (Runway3) ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งไม่ใช่ STEC นั้น นายภาคภูมิกล่าวว่า การประมูลรันเวย์แห่งที่ 3 มีการแข่งขันสูง ด้วยสถานะของ STEC ตอนนี้ก็มี Backlog ที่มากพอสมควร จึงจะไม่เข้าประมูลฟันราคาแบบไม่มีกำไรแน่นอน

 

 นายภาคภูมิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมี Backlog อยู่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีความมั่นคงและสามารถรับรู้รายได้ไปอีก 4 ปี เฉพาะในปี 2563 บริษัทจะรับรู้รายได้ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% โดยบริษัทนับว่าโชคดี เพราะมี Backlog สูงและกำลังจะมีการลงนามสัญญาเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้

 

ขณะที่ด้านอัตรากำไรเบื้องต้น (Gross Margin) อยู่ที่ 5-6% ลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากการแข่งขันรุนแรงและยังมีการก่อสร้างรัฐสภาซึ่งเป็นตัวฉุด เพราะมี Margin เป็น 0% แต่บริษัทก็ได้ตั้งสำรองขาดทุนไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 3,000 ล้านบาท

 

 นอกจากนี้บริษัทเตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงานรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อขอค่าชดเชยกรณีที่มีขยายเวลาก่อสร้างรัฐสภาออกไปประมาณ 2,000 วัน ส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่รวมข้อบกพร่องที่เกิดจากบริษัทเองและยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดวงเงินค่าชดเชยได้ในขณะนี้ สำหรับการก่อสร้างรัฐสภานั้น เบื้องต้นจะแล้วเสร็จในเสร็จภายในปีนี้ ยกเว้นงานที่ให้ดำเนินการเพิ่มเติมจากสัญญา

 

 อย่างไรก็ตามกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น เบื้องต้นส่งผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่บริษัทใช้วัสดุในประเทศและ STEC ไม่มีพันธมิตรจีนในการประมูลงานต่างๆ ขณะเดียวกันมองว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้คู่แข่งชาวจีนอ่อนกำลังลงด้วยซ้ำ ส่วนสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนั้น ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลต้องเร่งลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างในภาพรวม