เชฟรอนโชว์เทคโนโลยีระดับโลก รื้อถอนแท่นในอ่าวไทย

25 ธ.ค. 2562 | 07:00 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

 

ตามพ...ปิโตรเลียม ..2514 ได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง วัสดุ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการสำรวจผลิต เก็บรักษาหรือขนส่งปิโตรเลียม เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานมาเกือบ 40 ปี ส่งผลให้พื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในทะเล มีหลุมผลิตปิโตรเลียมกว่า 8,874 หลุม และมีแท่นหลุมผลิตราว 410 แท่น ในจำนวนแท่นดังกล่าวนี้ เมื่อสิ้นสุดการให้สัมปทาน จะต้องดำเนินการรื้อถอนออกทั้งหมด หากภาครัฐไม่เลือกเก็บไว้เพื่อนำไปใช้งานต่อ รวมถึงแหล่งเอราวัณและบงกช ที่สัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ดำเนินงานในแหล่งเอราวัณ ชี้ให้เห็นว่า ก่อนจะรื้อถอนแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จะต้องทำการปิดและสละหลุมถาวร ซึ่งมีขั้นตอนสำคัญคือการอัดซีเมนต์ลงไปในท่อกรุและท่อผลิตที่ขุดลงไปจนถึงชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียม เพื่อไม่ให้ปิโตรเลียม เช่น ก๊าซธรรมชาติหรือนํ้ามันรั่วไหล ซึ่งแต่ละแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจะมีจำนวนหลุมไม่เท่ากันตั้งแต่ 5 หลุมไปจนถึง 24 หลุม เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในการปิดหลุมที่แตกต่างกันไปขึ้นกับความยากง่ายของแต่ละหลุม

จ้างบริษัทชั้นนำปิดหลุม

นายทันตะวัน ไพรัชวินิจฉัย ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการขุดเจาะ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การปิดและสละหลุมถาวรนั้นเป็นการดำเนินการที่เชฟรอนทำอยู่แล้วในส่วนของหลุมผลิตที่ไม่มีปิโตรเลียมเหลืออยู่ ตาม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด แต่ในส่วนของการปิดและสละหลุมถาวร เพื่อสนับสนุนการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมใน อ่าวไทยนั้น เชฟรอนจะนำแท่นขุดเจาะชื่อว่าเซปเตอร์ ของบริษัท เชล์ฟดริลลิ่งฯ หนึ่งในผู้นำการให้บริการด้านงานขุดเจาะระดับโลกมาใช้ดำเนินงานนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งที่ผ่านมา เชฟรอนได้ทำงานร่วมกับเชล์ฟดริลลิ่ง เพื่อยก ระดับสมรรถนะของแท่นขุดเจาะนี้ให้เหมาะกับการดำเนินงานปิดและสละหลุมถาวรในอ่าวไทยโดยเฉพาะ

แท่นขุดเจาะเซปเตอร์ มีขาแท่น 3 ขา แต่ละขายาว 480 ฟุต เหมาะสำหรับการขุดเจาะในพื้นที่นํ้าลึกไม่เกิน 350 ฟุต รองรับคนที่ขึ้นไปทำงานบนแท่นได้สูง สุดประมาณ 150 คน แท่นขุดนี้มีสมรรถนะในการดึงมากกว่า 4 เท่าของนํ้าหนักที่ต้องใช้ในงานจริง จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน

 

เชฟรอนโชว์เทคโนโลยีระดับโลก  รื้อถอนแท่นในอ่าวไทย

 

 

ใช้มาตรฐานโลกกำกับ

สำหรับการทำงานนอกจากข้อกำหนดตามกฎหมายแล้ว เชฟรอนยังมีกระบวนการทำงานต่างๆ ภายใต้มาตรฐาน Well Safe ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนามาจากระบบ SubSafe ที่ใช้กับเรือดำนํ้าพลังงานปรมาณูของกองทัพสหรัฐอเมริกา เพื่อมาใช้ในการควบคุมการทำงานขุดเจาะอย่างเคร่งครัด ป้องกันไม่ให้มีอุบัติภัยเกิดขึ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน โดยเป็นมาตรฐานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของบุคลากรที่ต้องผ่านการอบรมและปฏิบัติตามแนวทางการทำงานตามคู่มือความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด อุปกรณ์ต้องได้มาตรฐานและสามารถใช้งานได้ดีมีประสิทธิภาพ มีการซ่อมบำรุงรักษาตามกำหนด มีการออกแบบ วางแผน การขุดเจาะให้ใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้อง เหมาะสม และการติดตามตรวจสอบจากคนกลางว่าในระหว่างการดำเนินการขุดเจาะนั้นมีการปฏิบัติตามแผนที่วางเอาไว้จริง

 

สู่กระบวนการรื้อถอน

หลังจากผ่านขั้นตอนการปิดและสละหลุมถาวรแล้ว จะนำไปสู่ขั้นตอนการรื้อถอนโครงสร้างแท่นหลุมผลิต ซึ่งการรื้อถอนแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ส่วนที่อยู่เหนือระดับนํ้าทะเล หรือโครงสร้างส่วนบน จะมีการตัดและยกขึ้น เพื่อไปทำการรื้อถอนบนฝั่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการต่อไป เช่น ทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือการนำไปแยกชิ้นส่วนออกมารีไซเคิลในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง ขณะที่โครงสร้างส่วนของขาแท่นเหล็กที่อยู่ใต้นํ้า จะถูกนำไปจัดการตามรูปแบบที่ภาครัฐและผู้รับสัมปทานมีข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งอาจรวมถึงการตัดและนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นํ้า ช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล หรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งขั้นตอนนี้ทางผู้รับสัมปทานอยู่ระหว่างการหารือกับภาครัฐเช่นกัน

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,534 วันที่ 26-28 ธันวาคม 2562

เชฟรอนโชว์เทคโนโลยีระดับโลก  รื้อถอนแท่นในอ่าวไทย