“สนธิรัตน์” ใช้โมเดลผาปัง ดันพลังงานชุมชน

22 พ.ย. 2562 | 12:06 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

"สนธิรัตน์"ชู"ผาปังโมเดล" ต้นแบบพลังงานชุมชน ตอบโจทย์นโยบาย Energy for all ลงพื้นที่ดูวิสาหกิจชุมชน ผลิตไฟฟ้า Synthesis Gas จากถ่านไผ่  ช่วยเหลือตัวเอง ประหยัดค่าพลังงาน เล็กงขยายสู่พื้นที่อื่นๆ  พร้อมประสานแผนทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขยายผล

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้( 22 พ.ย.62) ได้ลงพื้นที่ชุมชนตำบลผาปัง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง เพื่อเยี่ยมชมต้นแบบธุรกิจพลังงานชุมชน ที่มีการผลิตไฟฟ้าในระบบ Micro Off-grid  Hybrid Syngas -Solar -battery ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการพลังงานชุมชนด้วยตนเอง โดยใช้ไผ่ซางหม่นเป็นวัสดุหลัก อาทิ นำเศษไผ่มาผลิตเป็นถ่านเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันสูบน้ำเพื่อการเกษตร มีผลประหยัดเชื้อเพลิงได้กว่า 80% หรือนำถ่านไผ่ไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าชุมชนด้วยระบบ Gasification ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้เกิดการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์จนได้ก๊าซหรือ Synthesis Gas ที่มีคุณสมบัติติดไฟได้ สามารถใช้แทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน (แอลพีจี) ลดรายจ่ายด้านพลังงาน และสร้างรายได้จากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ


“สนธิรัตน์” ใช้โมเดลผาปัง ดันพลังงานชุมชน

                                         นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

อีกทั้ง ชุมชนผาปังยังสามารถยกระดับจากพลังงานในชุมชนสู่การจัดตั้งบริษัท กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนที่ต้องการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานในพื้นที่ มีรายได้จากการวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน

 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนผาปังประสบความสำเร็จคือ ความเข้มแข็งของคนในชุมชนโดยอาศัยการระเบิดจากข้างใน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหา ใช้ภูมิปัญญาขับเคลื่อนจุดที่ดีให้กลายเป็นจุดแข็ง ร่วมกับทรัพยากรมนุษย์ รวบรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตร วิศวกรรม การบริหาร และการตลาด พัฒนารูปแบบวิสาหกิจสู่รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมที่มีสมาชิกในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยเน้นการพัฒนา “ไผ่” ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นของชุมชนผาปัง ทนแล้ง และเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมาพัฒนาเพิ่มคุณค่า

“สนธิรัตน์” ใช้โมเดลผาปัง ดันพลังงานชุมชน

ตั้งแต่ด้านการท่องเที่ยว เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอุโมงค์ไผ่ขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายทั้งตะเกียบ ก้านธูป น้ำยาฆ่าเชื้อราจาก น้ำควันไม้จากการเผาถ่าน ด้านพลังงาน ชุมชนสามารถผลิตถ่านไผ่ผาปังที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันก๊าซหุงต้ม ตลอดจนนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ปัจจุบันชุมชนผาปังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและธรรมชาติอย่างสมดุล

“สนธิรัตน์” ใช้โมเดลผาปัง ดันพลังงานชุมชน

 

จากการดำเนินงานดังกล่าว จึงทำให้มีความมั่นใจว่า นโยบาย Energy for all ของกระทรวงพลังงาน ที่มุ่งหวังให้เรื่องของพลังงานเป็นเรื่องของทุกคน และเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก นั้นสามารถเป็นจริงได้ โดยจะขยายผลของ"ผาปังโมเดล" ไปดำเนินงานในพ้นที่อื่นๆ ซึ่งจะได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  กฟผ. ปตท. และสำนักบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(ส.กทอ.) นำโมเดลดังกล่าว ไปประสานรวมเข้าไปในแผนงาน เพื่อขยายผลดำเนินการในพื้นที่ชุมชนอื่นที่มีศักยภาพและความพร้อม ให้ได้ข้อยุติภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้

“สนธิรัตน์” ใช้โมเดลผาปัง ดันพลังงานชุมชน

 

“นอกจากการประสานแผนร่วมกันในหน่วยงานในกระทรวงพลังงานแล้ว  จะหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการร่วมมือกัน เพื่อให้ปี2563 เป็นปีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้เรื่องพลังงานเป็นกลไกในการเปลี่ยนผ่าน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม”