เร่งเปิดศูนย์ครบวงจร EEC ปลายส.ค.นี้ดึงทุนอุตฯ 5 แสนล.1.36 พันราย

23 ส.ค. 2562 | 07:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

นักลงทุนเตรียมเฮ ปลายส..นี้ บอร์ดอีอีซี เคาะเปิดให้บริการศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส อนุมัติ อนุญาต ลงทุนตั้งโรงงานเพียงจุดเดียว ลดระยะเวลาจาก 157 วัน เหลือ 45 วัน คาดจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 1,369 ราย จากการลงทุน 5 แสนล้านบาท

อีกหนึ่งความสำเร็จของการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี นอกจากการเดินหน้าสานต่อโครงการที่สำคัญต่างๆ แล้ว สิ่งที่นักลงทุนต้องการจะเป็นเรื่องของการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแบบครบวงจร (One Stop Service: EEC-OSS) ให้ได้โดยเร็ว ที่จะสามารถออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับ การประกอบธุรกิจในพื้นที่อีอีซีได้ในจุดเดียว โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอีอีซี ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนได้รับความสะดวกรวด เร็วมากขึ้นและลดต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ

นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแบบครบวงจร (One Stop Service: EEC-OSS) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบให้บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) พิจารณาเห็นชอบประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้ และหลังจากนั้นจะเปิดให้บริการได้ทันที เพื่ออำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจในพื้นที่อีอีซี ในการขอรับการอนุมัติ และใบอนุญาตต่างๆ ครอบคลุมกฎหมายทั้ง 8 ฉบับ ได้ในจุดเดียว ได้แก่

 

 

1. กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน 2. กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 3. กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร 4. กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข 5. กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะเพื่อการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักร 6. กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ 7. กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และ 8. กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

 

เร่งเปิดศูนย์ครบวงจร EEC  ปลายส.ค.นี้ดึงทุนอุตฯ 5 แสนล.1.36 พันราย

 

สำหรับการขออนุมัติและใบอนุญาตต่างๆ ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ระบบ EEC-OSS จะต้องยื่นสมัคร จากนั้นจะได้รับคู่มือการใช้งานระบบและรายละเอียดในการแนบเอกสารในการยื่นเรื่องขออนุญาตต่างๆ รวมทั้งจะกำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส จากนั้นจะได้รับรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบกรอกข้อมูลรายละเอียดของ บริษัท ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

 

สกพอ. ได้ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงาน และขั้นตอนการทำงานต่างๆ ทำให้ลดระยะเวลาดำเนินงานจากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 157 วัน มีเอกสารประกอบมากกว่า 87 รายการ จะลดเวลาลงเหลือเพียง 45 วัน ใช้เอกสารประกอบเพียง 56 รายการ

ทั้งนี้ จากการพยากรณ์ความต้องการใช้บริการ EEC-OSS ตามเป้าหมายที่จะมีการลงทุนในอีอีซีกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะ 5 ปี จะมีผู้ประกอบการใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 1,369 ราย หรือคิดเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นราว 274 รายต่อปี หรือมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 23 รายต่อเดือน

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3498 วันที่ 22-24 สิงหาคม 2562

เร่งเปิดศูนย์ครบวงจร EEC  ปลายส.ค.นี้ดึงทุนอุตฯ 5 แสนล.1.36 พันราย