เอกซเรย์ 5 ปี1,000กิโล ทางคู่แสนล้านพร้อมเปิดหวูด

17 ส.ค. 2562 | 23:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“นับตั้งแต่ปี2494 ที่มีการเปลี่ยนฐานะเป็น การรถไฟแห่งประเทศไทย ขณะนั้นระบบรางเพียง 3,300 กิโลเมตร ปัจจุบันในปี 2562 มีระบบรางประมาณเป็น 4,000 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นเพียง 700 กิโลเมตร จาก 68 ปี ดังนั้นกล่าวโดยสรุปประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากระบบรางในสัดส่วนน้อยมาก ซึ่งมาเริ่มตื่นตัวในช่วง 4-5 ปีหลัง ถือได้ว่ามาถูกทาง”

นี่คือเสียงสะท้อน ภาพรวมโครงสร้างระบบรางที่ผ่านมา ของนายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บนเวทีสัมมนา ภายใต้หัวข้อ ความพร้อมเชิงโครงสร้างพื้นฐานต่อการรองรับแผนการคมนาคมระบบรางในอนาคต อีกทั้งยังประกาศความพร้อมจัดงาน “INTERMAT ASEAN และงาน CONCRETE ASIA” ที่จะเปิดตัวช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

 

ทั้งนี้การพลิกโฉมรถไฟทางคู่มูลค่ากว่าแสนล้านบาท มีเส้นทางไหนที่พร้อมเปิดให้บริการ เริ่มตั้งแต่ รถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา- คลองสิบเก้า- แก่งคอยโครงสร้างเกือบแล้วเสร็จสมบูรณ์เตรียมเปิดให้บริการภายในเดือนกันยายนนี้เช่นเดียวกับ ชุมทางจิระ-ขอนแก่น

ส่วนปี 2564 เส้นทางสายใต้จะแล้วเสร็จตลอดเส้นทางตั้งแต่นครปฐม-ชุมพร ตามด้วย ลพบุรี-ปากนํ้าโพ ซึ่งเป็นเส้นทางสายเหนือ จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี2565ส่งผลให้อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีทางรถไฟ 25% รวมเส้นทางกว่า 1,000 กิโลเมตรเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ขณะเดียวกันยังมีรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่ นครพนม สายเหนือ-อีสานตามลำดับ ระยะทางประมาณ 1,500 กิโลเมตรอยู่ระหว่างออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นเส้นทางแรกระยะทาง 252 กิโลเมตรขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะที่เฟส 2 ช่วงโคราช-หนองคาย คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว และไฮไลต์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อยู่ระหว่างเตรียมส่งมอบ พื้นที่ให้กับซีพีและพันธมิตร คาดว่าเริ่มก่อสร้างได้ไม่เกินต้นปี 2563

เอกซเรย์ 5 ปี1,000กิโล  ทางคู่แสนล้านพร้อมเปิดหวูด

แม้ระบบรางในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจะถูกพัฒนาอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่แต่โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนไทยหันมาใช้ระบบรางโดยเฉพาะการเดินทางไปยังต่างจังหวัดทั้งนี้ความสะดวกสบายคือหัวใจสำคัญสิ่งที่ดำเนินการได้ทันทีคือให้ความรู้ ประชา สัมพันธ์ รวมทั้งติดป้ายบอกทางด้วยความเข้าใจง่ายชัดเจน พร้อมกันนี้ในบางสถานีที่ยังไม่สามารถเดินทางไปยังจุดหมายได้ 

 

“เราจะต้องประสานการขนส่งต่อเนื่องให้กับท้องถิ่นนั้นๆ เข้ามาเติม เพื่อเต็มให้ผู้ใช้บริการเกิดความประทับใจในแง่ของความเร็ว ขณะนี้ระบบรางยังเป็นรองในระบบถนน แต่ในอนาคตเมื่อเส้นทางต่างๆ ทยอยแล้วเสร็จ คาดว่าระยะเวลาน่าจะแข่งขันกันได้ โดยจุดแข็งของเราเด่นในเรื่องความปลอดภัยและเสน่ห์ระหว่างทาง” 

อย่างไรก็ตาม ระบบรางจะเติบโตได้ ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมรถไฟ อาทิ การจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟในประเทศตลอดจนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เกิดความคุ้มค่า

นับจากนี้ไม่เกิน 5 ปีจะเกิดความคล่องตัวในการเดินทาง ขนส่งสินค้า..เชื่อมโยงทั่วทุกภูมิภาค และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านจากระบบราง 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3497 ระหว่างวันที่ 18 - 21 สิงหาคม 2562