กรอ. ผนึก กนอ. คุ้ยหา บ.ต้นตอกากขยะพลาสติก-อิเล็กทรอนิกส์เจ้าปัญหาที่สระแก้ว

10 ก.ค. 2562 | 08:11 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กรอ.เดินหน้าตรวจสอบแหล่งที่มากากของเสีย  พร้อมร่วมมือ กนอ. และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด  ชี้หากพบกระทำผิดจริงเตรียมดำเนินคดี และต้องรับผิดชอบกำจัดให้ถูกต้อง  ระบุหากแก้ปัญหาไม่ได้ กนอ. มีอำนาจสั่งปิดกิจการได้  ยันกรมฯ ยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วตั้งแต่ 22 มิ.ย. 61

กรอ. ผนึก กนอ. คุ้ยหา บ.ต้นตอกากขยะพลาสติก-อิเล็กทรอนิกส์เจ้าปัญหาที่สระแก้ว

นายทองชัย  ชวลิตพิเชฐ  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าในการตรวจสอบพื้นที่บริเวณทิ้งกากของเสีย บ้านหนองแก อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้วว่า  กรอ. ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงของโรงงานที่เป็นข่าวภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช  เพื่อหาข้อสรุปและความชัดเจนในเรื่องของแหล่งที่มากองของเสียที่ตรวจพบในอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว เพื่อหาผู้รับผิดชอบในการดำเนินการนำกากของเสียดังกล่าวไปดำเนินการกำจัดให้ถูกต้องต่อไป และหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเศษวัสดุดังกล่าวเป็นของ บริษัทฯ ใด จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหานำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เบื้องต้นหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กนอ. 
มีอำนาจที่สามารถสั่งปิดกิจการได้ เพราะโรงงานดังกล่าวอยู่ในการดูแลของ กนอ.

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ กรอ. ได้ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของจังหวัด  เพื่อตรวจสอบการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) ของ บริษัทฯ เอกชนที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นแหล่งที่มาของกองของเสีย พบการประกอบกิจการเศษเหล็กตัดย่อย ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี  มีการขออนุญาตนำเศษพลาสติกออกนอกบริเวณโรงงาน จำนวน 1,000 ตัน ไปทำการคัดแยกที่บริษัทรับคัดแยกอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ประกอบกิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่ไม่เป็นของเสียอันตราย และไม่พบว่ามีการได้รับอนุญาตให้นำของเสียไปคัดแยกที่จังหวัดสระแก้วแต่อย่างใด

ขั้นตอนต่อไปเกี่ยวกับการดำเนินการกับกองวัสดุดังกล่าวจะต้องให้เจ้าของเศษวัสดุประสานพนักงานสอบสวนและอัยการจังหวัด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายหรือส่งไปกำจัด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมโรงงานฯ ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก พร้อมมีมาตรการคุมเข้มทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ดังนั้นหากพบผู้กระทำผิดก็จะลงโทษตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นการสร้างปัญหาทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

นายทองชัยฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ผ่านมา ในวันที่ 8 ก.ค. 62 ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีกองของเสีย (เศษพลาสติก ฟองน้ำ สายไฟ และแผงวงจร) ที่ผ่านการบดย่อยจากชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งผู้ดูแลพื้นที่ที่ถูกร้องเรียนแจ้งว่า ได้นำของเสียดังกล่าวมาจาก บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี มาทำการคัดแยกในบริเวณพื้นที่ของกรมป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต

กรอ. ผนึก กนอ. คุ้ยหา บ.ต้นตอกากขยะพลาสติก-อิเล็กทรอนิกส์เจ้าปัญหาที่สระแก้ว
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.วังน้ำเย็น ดังนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 62 กล่าวหาว่า 1. กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 ฐานกระทำด้วยการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2. กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ 3. กระทำผิดตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 มาตรา 16 ฐานห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการน้ำบาดาลในเขตน้ำบาดาลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองที่ดินในเขตน้ำบาดาลนั้นหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 62 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้วได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 12 ตั้งและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

กรอ. ผนึก กนอ. คุ้ยหา บ.ต้นตอกากขยะพลาสติก-อิเล็กทรอนิกส์เจ้าปัญหาที่สระแก้ว

ในส่วนของมาตรา 12 นั้น ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ แต่หากผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่ได้รับใบอนุญาตหรือตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่นำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดในมาตรา 8 (5) ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
นายทองชัยฯ กล่าวอีกว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งห้ามนำซากอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 2561 จนถึงปัจจุบันทาง กรอ. ก็ยังไม่มีการอนุญาตให้มีการนำเข้าแต่อย่างใด ดังนั้นคงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นการลักลอบนำเข้าหรือไม่ หรือเป็นขยะอุตสาหกรรมก่อนที่จะมีประกาศสั่งห้ามนำเข้า