กบง.คงราคา LPG เดือนมิถุนายน20.49บาทต่อกก.

08 มิ.ย. 2560 | 04:17 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม กบง. ซึ่งมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กบง. ได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนมิถุนายน 2560 โดยสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ 387.50 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2560 อ่อนค่าลงจากเดือนก่อน 0.0069 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 34.6199 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับตัวลดลง 0.0527 บาท/กก. จาก 15.1018 บาท/กก. เป็น 15.0491 บาท/กก.

แต่เนื่องจากราคามีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ประกอบกับเพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และสำรองไว้ใช้บริหารราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในอนาคต ดังนั้น ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนมิถุนายน 2560 ไว้ที่ 20.49 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 0.0527 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 1.5996 บาท/กก. เป็นชดเชยที่ 1.5469 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป

ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับและรายจ่ายสุทธิเป็นศูนย์โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2560 อยู่ที่ 39,918 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 6,430 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,488 ล้านบาท

LPG1 นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ได้รับทราบรายงานเบื้องต้นผลการจัดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดย สนพ. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย (1) เว็บไซต์ (www.eppo.go.th และ www.lawamendment.go.th) ระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2560 (2) ไปรษณีย์ ที่อยู่ สนพ. และ อีเมล ([email protected]) ระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2560 และ (3) การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ณ สโมสรกองทัพบก โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ องค์กรอิสระ และสื่อมวลชน รวม 302 คน ซึ่งสรุปผลในภาพรวมที่ได้จากการรับฟังคิดเห็นพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ แต่มีบางส่วนที่เห็นต่างในรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งนี้ สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และจะมีการเปิดเผยผลสู่สาธารณชนผ่านทางเว็บไซต์ www.eppo.go.th และ www.lawamendment.go.th เพื่อประกอบการจัดทำคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ครม. และ สนช. พิจารณาต่อไป

พร้อมรับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการนำร่อง (Pilot Project) การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรี โดยข้อมูลสถานะการเชื่อมต่อไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 พบว่า มีผู้ที่เข้าร่วมโครงการที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 184 ราย รวมกำลังผลิต 5.67 เมกะวัตต์ โดยสามารถเชื่อมต่อเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าแล้ว 75 ราย กำลังผลิต 3.09 เมกะวัตต์ และยังไม่ได้เชื่อมต่อเข้าระบบไฟฟ้าอีก 109 ราย กำลังผลิต 2.58 เมกะวัตต์ ซึ่งคณะทำงานกำหนดแนวทาง และประสานงาน กำกับติดตามโครงการนำร่องการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี ได้พิจารณาเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับโครงการนำร่อง (Pilot Project) จากเดิมภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 เป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ทั้งนี้ หากสิ้นสุดการขยายระยะเวลาการเชื่อมต่อระบบฯ ดังกล่าว ให้การไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อสำนักงาน กกพ. เพื่อยกเลิกใบอนุญาตสำหรับผู้ที่ไม่ได้ดำเนินการ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา วิเคราะห์ เพื่อติดตามและประเมินผลโครงการนำร่อง (Pilot Project) โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนนำเสนอรายงานสรุปผลให้ กบง. ทราบต่อไป