ค่ายรถยนต์ทุ่มลงทุนในสเปน รับอานิสงส์กฎหมายแรงงาน

13 ส.ค. 2559 | 03:00 น.
อุตสาหกรรมยานยนต์ของสเปนดึงดูดเงินลงทุนใหม่ๆ ได้เป็นมูลค่าหลายพันล้านยูโรจากผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกหลายราย นับเป็นธุรกิจที่มีความสดใสสำหรับเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงเผชิญกับปัญหาว่างงานในระดับสูง

เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า แม้ว่าสเปนจะไม่มีบริษัทผลิตรถยนต์เป็นของตัวเอง แต่ได้กลายมาเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยุโรปรองจากเยอรมนี และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก โดยผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนี ทั้งโฟล์กสวาเกน และเดมเลอร์ เมื่อไม่นานมานี้ต่างเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศสเปน โดยอาศัยอานิสงส์จากการปฏิรูปกฎหมายแรงงานเมื่อปี 2555 ซึ่งช่วยให้การเลิกจ้างพนักงานทำได้ง่ายขึ้น และเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่กว้างขวางของสเปน

โฟล์กสวาเกนกล่าวเมื่อปีก่อนว่า จะลงทุนอีก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับโรงงานผลิตในเมืองแพมโพลนา ซึ่งบริษัทใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์รุ่นโปโล (Polo) ด้วยการเพิ่มจำนวนพนักงานอีก 500 คนเป็น 4,500 คน โดยพนักงานตกลงที่จะลดค่าแรงลง 50 เซ็นต์ต่อชั่วโมงและทำงานเพิ่มขึ้น 1 วันต่อปี
ข้อมูลจากเอฟดีไอ มาร์เก็ตส์ ระบุว่า บริษัทจากเยอรมนีเข้ามาลงทุนในสเปนเป็นมูลค่า 4.8 พันล้านยูโรเมื่อปีก่อน ทำให้สเปนกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางที่เงินลงทุนโดยตรงจากเยอรมนีออกไปลงทุนมากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าการลงทุนมากถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์

สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งสเปน หรือ เอเอ็นเอฟเอซี กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็นสัดส่วน 8.7% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของสเปนในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 5.2% ในปี 2548 ขณะที่อัตราการจ้างงานคิดเป็น 9% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในสเปน และมีการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 2.7 ล้านคันเมื่อปีก่อน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย 80% ของจำนวนดังกล่าวถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ

ความแข็งแกร่งของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สเปนมีความน่าดึงดูดใจสำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ฟอร์ดตัดสินใจปิดโรงงานในเมืองเกงค์ของเบลเยียม และย้ายการผลิตรถยนต์รุ่นมอนเดโอ กาแล็กซี่ เอส-แม็กซ์ มาที่โรงงานในวาเลนเซียโดยมีเรื่องซัพพลายเออร์ในท้องถิ่นเป็นปัจจัยตัดสินที่สำคัญ ฟอร์ดมีแผนลงทุนเป็นมูลค่า 2.3 พันล้านยูโรภายในปี 2563 กับโรงงานที่วาเลเซีย และโรงงานดังกล่าวได้กลายมาเป็นโรงงานผลิตที่ใหญ่ที่สุดของฟอร์ดในยุโรป

ขณะที่เดมเลอร์ทุ่มเงินลงทุน 1 พันล้านยูโรมาตั้งแต่ปี 2555 กับโรงงานในเมืองวิโตเรีย ทางตอนเหนือของสเปน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถแวนขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกของเดมเลอร์ ทำหน้าที่ผลิตรถเมอร์เซเดสรุ่น วีโต้ และรถแวนขนาดกลางวี-คลาส

นอกเหนือจากผู้ผลิต 3 รายข้างต้นแล้ว เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ของสหรัฐฯ เรโนลท์ และเปอโยต์ ซีตรอง ของฝรั่งเศส ก็ได้เข้ามาลงทุนอยู่ในสเปนเป็นจำนวนไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้สเปนกำลังเผชิญกับปัญหาทางการเมือง หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งในรอบ 6 เดือนไม่มีผู้ชนะเสียงข้างมาก ส่งผลให้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการได้สำเร็จ ซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตของการปฏิรูปกฎหมายแรงงานของสเปน
เซอร์กี บาสโก ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Universidad Carlos III ในกรุงมาดริด กล่าวว่า ค่าแรงที่ถูกเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนและการจ้างงานมาจากประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่มีต้นทุนค่าแรงแพงกว่า แต่มันไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว "สเปนจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มทักษะของแรงงาน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย" บาสโกกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559