ยูโรถกแนวทางลดหนี้กรีซ ยอมรับแนวโน้มในระยะยาวอยู่ในระดับที่ไม่ยั่งยืน

12 พ.ค. 2559 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รัฐมนตรีคลังยูโรโซนหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดการกับภาระหนี้สินของกรีซเพิ่มเติมเป็นครั้งแรก หลังเอกสารวิเคราะห์ภาวะหนี้สินของกรีซแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในระดับที่ไม่ยั่งยืน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในการประชุมสัปดาห์นี้ รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศยูโรโซนได้มีการพิจารณาเอกสารรายงานภาวะหนี้สาธารณะของกรีซที่จัดทำขึ้นโดยกองทุนเงินช่วยเหลือ European Stability Mechanism (ESM) พร้อมทั้งหารือถึงแนวทางในการจัดการกับภาระหนี้สินของกรีซลง โดยที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกล่าวว่า วางเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงในประเด็นดังกล่าวให้ได้ภายในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 24 พฤษภาคม ก่อนที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับกรีซต่อไป

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์แนวโน้มหนี้สาธารณะของกรีซในหลายรูปแบบส่งสัญญาณถึงการเจรจาที่ยากลำบากระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้ ซึ่งรวมถึง 18 ประเทศสมาชิกยูโรโซนที่ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหนี้สินของกรีซให้น้อยที่สุด และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ต้องการลดภาระหนี้ของกรีซมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ทั้งนี้ เอกสารวิเคราะห์แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของกรีซ ซึ่งจนถึงสิ้นปี 2558 อยู่ที่ 176.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) "ผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความกังวลอย่างยิ่งต่อความยั่งยืนของหนี้สาธารณะกรีซในระยะยาว" เอกสารระบุ โดยถ้าไม่มีการลดภาระหนี้ การชำระดอกเบี้ยและเงินต้นต่อปีจะอยู่ในระดับที่สูงเกินระดับที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์จำลองที่แตกต่างกัน ทำให้ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านการลดภาระหนี้ของกรีซมีเหตุผลในการถกเถียงกัน

นายเยอรอน ไดจ์เซลบลอม รัฐมนตรีคลังเนเธอร์แลนด์และประธานกลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซน กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการถกเถียงและพิจารณาทางเลือกต่างๆ พร้อมกับยอมรับว่าถ้าไม่มีการลดภาระหนี้ มีโอกาสสูงที่กรีซจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ดี นายไดจ์เซลบลอมยืนยันว่าจะไม่มีการข้ามเส้นแดงที่เจ้าหนี้กำหนดไว้ คือลดเงินต้น หรือปรับแก้เงื่อนไขของการรับเงินช่วยเหลือ

ESM วิเคราะห์ว่า ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ภาระหนี้สินของกรีซอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 258.3% ของจีดีพีภายในปี 2603 ขณะที่สถานการณ์ที่ดีที่สุด ภาระหนี้สินจะลดลงเหลือ 62.8% ภายในปี 2603 ในกรณีที่ไม่มีมาตรการลดภาระหนี้สินใดๆ โดยจะขึ้นอยู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจำนวนเงินที่กรีซสามารถนำมาใช้ชำระหนี้

นอกจากนี้ เอกสารยังระบุถึงมาตรการต่างๆ ที่สามารถทำได้นอกเหนือจากการลดเงินต้น อาทิ การยืดกำหนดเวลาการชำระหนี้ออกไปจาก 5 ปีเป็น 37.5 ปี ลดจำนวนเงินในการชำระเงินต้นในแต่ละปีลงเหลือ 1% ของจีดีพีไปจนถึงปี 2593 รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 2% ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ขณะที่หนี้สินส่วนที่เหลือจะถูกนำมาแบ่งชำระหลังจากปี 2593 ซึ่งโดยรวมแล้วเมื่อนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ประกอบกันจะช่วยลดสัดส่วนหนี้สินของกรีซลงได้ 31.2%

นายยูคลิด ทาสคาโลตอส รัฐมนตรีคลังของกรีซ กล่าวว่า มาตรการลดภาระการชำระหนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซามานานสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง "มันเป็นเรื่องที่ดีที่เราหารือเรื่องนี้กัน เราควรร่วมมือกันสร้างสถานการณ์ที่กรีซสามารถฟื้นกลับมาได้ในที่สุด"

ด้านนายไดจ์เซลบลอมกล่าวว่า ถึงแม้ว่ารัฐมนตรีคลังยูโรโซนจะตกลงเรื่องการลดภาระหนี้ของกรีซในเวลานี้ แต่มาตรการต่างๆ จะไม่ถูกนำมาใช้จนกว่าจะสิ้นสุดโครงการเงินช่วยเหลือในปี 2561 เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลกรีซจะรักษาสถานะทางการคลังให้อยู่ในสภาวะที่แข็งแรง

ทั้งนี้ กรีซยังมีภาระหนักในการจัดการกับสถานการณ์ทางการเงินของประเทศ โดยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภากรีซได้ผ่านร่างกฎหมายมาตรการรัดเข็มขัดเป็นมูลค่า 5.4 พันล้านยูโร ซึ่งรวมถึงการปฏิรูประบบเงินบำนาญ และการขึ้นภาษี ตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้ ท่ามกลางการออกมาเดินขบวนประท้วงของชาวกรีซจำนวนหลายพันคน

ขณะเดียวกัน ในรายงานเศรษฐกิจฉบับล่าสุดโดยคณะกรรมาธิการยุโรป นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจกรีซจะยังอยู่ในภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ก่อนจะฟื้นกลับมาเติบโตได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ต่อเนื่องถึงปี 2560 ขณะที่อัตราว่างงานจะลดลงเล็กน้อยจาก 24.9% ในปี 2558 เหลือ 24.7 ในปี 2559 และ 23.6 ในปี 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559