3 ชาติอาเซียน “อินโดฯ-ปินส์-มาเลย์” อ่วมโควิด ผู้ติดเชื้อใหม่ทำสถิตินิวไฮ

13 ก.ค. 2564 | 17:28 น.
อัพเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2564 | 07:18 น.

"อินโดนีเซีย" ติดโควิดวันเดียวทำนิวไฮกว่า 47,000 ราย ดันยอดรวมทั่วประเทศทะลุ 2,600,000 รายวานนี้ (13 ก.ค.) เหตุไวรัสสายพันธุ์ใหม่อาละวาด ฟาดแม้บุคลากรการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนป้องกันครบโดสแล้ว ขณะที่ "ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย" ก็อ่วมไม่แพ้กัน

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียชี้ว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงเมื่อวันอังคาร (13 ก.ค.) มีจำนวน 47,899 ราย ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา (2563) ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,615,529 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลุกลามไปทั่วทั้ง 34 จังหวัดของ อินโดนีเซีย แล้ว

 

ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่มีจำนวน 864 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตรวมขยับขึ้นเป็น 68,219 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในอาเซียนเช่นกัน

นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประกาศว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนจำนวน 1 ล้านคนต่อวันภายในเดือนก.ค. นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนจำนวนรวม 181.5 ล้านคนภายในปีหน้า (2565) โดยสถิติชี้ว่า ขณะนี้มีชาวอินโดนีเซียจำนวนมากกว่า 11 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของอินโดนีเซียคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ อย่างสายพันธุ์เดลตา ได้ทำให้อัตราการติดเชื้อโควิดกลับมาพุ่งสูงขึ้นแม้ในหมู่ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม ซึ่งรวมถึงบุคลากรการแพทย์ที่เป็นผู้เผชิญความเสี่ยง “ด่านหน้า” เนื่องจากต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโควิดโดยตรง ข่าวระบุว่าแม้บุคลากรการแพทย์ของอินโดนีเซียซึ่งส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนของซิโนแวคครบโดสแล้ว แต่พวกเขาก็ยังเป็นกลุ่มอาชีพที่เสียชีวิตเพราะโรคโควิด-19 แล้วหลายร้อยคน

 

แพทยสมาคมแห่งอินโดนีเซีย (IMA) เปิดเผยว่า แพทย์จำนวน 458 รายของอินโดนีเซียได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด จนถึงสัปดาห์แรกของเดือนก.ค.2564

 

ทั้งนี้ แพทย์ที่เสียชีวิตในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยแพทย์ที่เสียชีวิตในเดือนมิ.ย.มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ส่วนในเดือนก.ค. แม้ผ่านมาเพียง 9 วันแรก ก็มีแพทย์เสียชีวิตแล้วถึง 35 ราย

 

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) คิดเป็นแพทย์ 0.4 คนต่อประชากร 1,000 คน หรือแพทย์ 4 คนต่อประชากร 10,000 คน ดังนั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้ หากไม่สามารถควบคุมก็จะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซีย

 

ส่วนประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับสองในอาเซียนได้แก่ ฟิลิปปินส์ ทำสถิติผู้ติดเชื้อโควิดสะสมทะลุ 1,480,000 รายทั่วประเทศ ตายกว่า 26,000 ราย

    ปธน.โรดริโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์              

จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ พบว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงของวันที่ 13 ก.ค. พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่จำนวน 3,604 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่ที่ 1,481,660 ราย ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นรองก็แต่เพียงอินโดนีเซีย

 

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 77 รายวานนี้ (13 ก.ค.) สู่ระดับ 26,092 ราย นับว่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนเช่นกัน

นายมูยิดดิน ยัสซิน นายกฯมาเลเซีย

ด้าน มาเลเซีย ซึ่งมีชายแดนติดกับไทย ทำสถิติยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายวันในอัตรานิวไฮเช่นกัน คือกว่า 10,000 ราย ดันยอดติดเชื้อโควิด-19 สะสมทะลุ 855,000 รายทั่วประเทศ

 

กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียเปิดเผยว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงของวันที่ 13 ก.ค. พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่จำนวน 11,079 ราย ซึ่งเป็นการทำสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 855,949 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 125 รายวานนี้ (13 ก.ค.) สู่ระดับรวม 6,385 ราย