ฮือฮา นิวซีแลนด์ ผ่านกฎหมายผลิตภัณฑ์ไร้ควัน

11 ก.ย. 2563 | 11:09 น.

ประเทศนิวซีแลนด์ผ่าน พรบ.สิ่งแวดล้อมและการควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควัน รักษาชีวิตนักสูบ

ท่ามกลางข่าวการจับกุมผู้ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่ล่าสุดมีการบุกยึดศูนย์กระจายสินค้าย่านบางแก้ว ได้ของกลางกว่า 2 ล้านบาท ขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์ เพิ่งผ่านร่างกฎหมายสำคัญ คือ “พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและการควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควัน” เมื่อด้นเดือนสิงหาคม
 

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเชื่อว่าจะทำให้นิวซีแลนด์รักษาชีวิตผู้สูบบุหรี่หลายพันคนได้และทำให้คนรุ่นใหม่มีอนาคตที่ปราศจากควันบุหรี่
 

พรบ.สิ่งแวดล้อมและการควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควัน กำหนดกฎกติกาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้ใช้ผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้เสพติดบุหรี่แบบมีควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่า และเตรียมมาตรการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวดภายในช่วงเวลาสองปีต่อจากนี้ไป

ทั้งนี้ ข้อจำกัดที่เข้มงวดก็ยังถูกตั้งคำถามถึงผลลัพธ์ที่อาจจะไม่เปิดโอกาสในการเข้าถึงทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าได้จริง โดยกระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์คาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้ จะช่วยสนับสนุนการสร้างทางเลือกให้แก่ผู้เสพติดบุหรี่ได้อย่างปลอดภัย
 

นิวซีแลนด์ผ่าน พรบ.สิ่งแวดล้อมและการควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควัน

เจนนี เซลเลสซา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ กล่าวผ่านแถลงการณ์ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนว่า เรารู้ว่าผลิตภัณฑ์ไร้ควันยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่เมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ซิกาแร็ตต์ทั่วไป มันมีอันตรายน้อยกว่าถึง 95 เปอร์เซ็นต์ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการ “เลิกบุหรี่โดยใช้ผลิตภัณฑ์ไร้ควันเป็นทางเลือก” และ ช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าด้วย
 

“พรบ.ฉบับนี้ เอื้อให้เราสามารถควบคุมการสื่อสารข้อมูลและกำหนดข้อปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่แบบเผาไหม้ควันมาเป็นผลิตภัณฑ์ไร้ควันทดแทนได้” รมช. สธ. กล่าว
 

โดยเนื้อหาในร่างพรบ.ฯ ระบุรายละเอียดการอนุญาตการขายผลิตภัณฑ์ไร้ควัน ไว้ชัดเจน 2 แบบ โดยแบบแรก อนุญาตให้มีการขายผลิตภัณฑ์ไร้ควันในร้านค้าปลีกทั่วไป สถานีให้บริการต่าง ๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน และซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เฉพาะผลิตภัณฑ์ฯแต่งรสและกลิ่น 3 รสเท่านั้น ได้แก่ ใบยาสูบ มินต์ และเมนทอล ส่วนผลิตภัณฑ์ฯ รสอื่น ๆ  กฎหมายอนุญาตให้ขายเฉพาะในร้านค้าปลีกเฉพาะทางและขายทางเวบไซต์หรือร้านออนไลน์ของผู้ผลิตโดยตรงเท่านั้น
 

ปัจจุบัน การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการตายของพลเมืองนิวซีแลนด์จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ เฉลี่ยปีละ 5,000 คนต่อปี การออกกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควัน เป็นกระบวนการที่นิวซีแลนด์เล็งเห็นว่า จะเอื้อประโยชน์ต่อพลเมืองของประเทศได้ ภายใต้การควบคุมเรื่องการประชาสัมพันธ์ข่าวสารและการใช้งานผลิตภัณฑ์ เช่น ห้ามใช้ในที่ทำงาน ห้ามการขายผลิตภัณฑ์ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี

นิวซีแลนด์ผ่าน พรบ.สิ่งแวดล้อมและการควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควัน

ขณะที่ สื่อชื่อดังอย่างนิวซีแลนด์ เฮรัลด์ เผยบทวิเคราะห์ของ ดร. เมอร์เรย์ เลอเกเซน จากมูลนิธิต่อต้านบุหรี่ของนิวซีแลนด์ที่ระบุว่า ยอดขายบุหรี่ลดลงเฉลี่ยปีละ 8% หรือมากกว่า 410 ล้านมวนภายในสองปีที่ผ่านมา เพราะผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปบุหรี่ไฟฟ้าทดแทนการสูบบุหรี่ ซึ่งมากกว่าในช่วง 6 ปีแรกที่รัฐบาลประกาศแผนสร้างสังคมปลอดควันปี 2025 ถึง 3 เท่า ซึ่งในครั้งนั้น รัฐบาลใช้วิธีการขึ้นภาษีบุหรี่จาก 16.39 เหรียญนิวซีแลนด์ ในปี 2011 จนเป็น 41.89 เหรียญนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน
 

ด้านบริษัทผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ไร้ควัน อาทิ Shosha อิมพีเรียล และ VTANZ พร้อมขานรับกฎหมายนี้ ด้วยการเตรียมเปิดร้านค้าปลีกอีกหลายแห่งทั่วประเทศในสามเดือนข้างหน้า และเห็นว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้มีความชัดเจนให้กับร้านค้าปลีก และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตนำเสนอผลิตภัณฑ์ไร้ควันเข้าถึงผู้บริโภคแบบมีระเบียบชัดเจนได้มากขึ้นทั่วประเทศ
 

ตามรายงานของ The SunLive สื่อออนไลน์ในนิวซีแลนด์ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายในการปกป้องเด็กและเยาวชน โดยมีข้อกฎหมายกำหนดชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์แบบไร้ควัน ไม่ได้รับอนุญาตให้มีการทำการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกันก็ไม่ตัดโอกาสของผู้เสพติดบุหรี่วัยผู้ใหญ่ที่ยังไม่สามารถเลิกเด็ดขาดและต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ไร้ควันเป็นทางเลือก เพื่อลดสารก่ออันตรายต่อสุขภาพ
 

ทั้งนี้ ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคว่า การมีข้อจำกัดด้านพื้นที่และประเภทผลิตภัณฑ์ในการขายที่เข้มงวดเกินไป อาจจะไม่ส่งผลลัพธ์ที่ชัดเจนนัก หากรัฐต้องการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน เพื่อช่วยลด “การได้รับสารก่ออันตรายต่อสุขภาพ” ในผู้ยังเลิกบุหรี่เด็ดขาดไม่ได้  อย่างไรก็ตาม น่าติดตามต่อไปว่าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ของไทย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ สคบ. สองหน่วยงานเจ้าของประกาศห้ามนำเข้าและห้ามให้บริการ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข จะเห็นด้วยตามแนวทางของนิวซีแลนด์หรือไม่ หรือจะไล่จับไล่ปราบปรามผู้ค้า-ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันต่อไป