ซีอีโอ “ติ๊กต็อก” ลาออกแล้ว หลังถูกสหรัฐกดดันหนัก

28 ส.ค. 2563 | 01:14 น.

นายเควิน เมเยอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของติ๊กต็อก (TikTok) ได้ตัดสินใจลาออก ท่ามกลางแรงกดดันของสหรัฐอเมริกาต่อแอปพลิเคชันแชร์คลิปวิดีโอยอดนิยมดังกล่าว

 

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ในจดหมายของ นายเควิน เมเยอร์ ซีอีโอของติ๊กต็อก ที่เขียนถึงพนักงานบริษัทเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (26 ส.ค.)  เมเยอร์กล่าวว่า เขาตัดสินใจลาออก เพราะสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างหนักหน่วง

นายเควิน เมเยอร์ ซีอีโอของติ๊กต็อก

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ (24 ส.ค.) ติ๊กต็อก ซึ่งเป็นบริษัทเครือข่ายแบ่งปันวิดีโอทางออนไลน์ได้ยื่นฟ้องคณะบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เกี่ยวกับคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ที่สั่งห้ามพลเมืองและบริษัทอเมริกัน ทำธุรกรรมใดๆ กับติ๊กต๊อกและ ไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของติ๊กต็อก ในตลาดสหรัฐฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ติ๊กต็อก” ฟ้องรัฐบาลสหรัฐ ค้านคำสั่งแบน ไร้หลักฐานกล่าวหา

"ทรัมป์"บีบ"ไบต์แดนซ์"ขาย"ติ๊กต็อก"ในสหรัฐภายใน 90 วัน

“ทรัมป์-รอสส์” เป็นจำเลย ถูกกลุ่มผู้ใช้ “วีแชท” ยื่นฟ้องแล้ว

สหรัฐแบน “วีแชท” สะเทือนเงินหยวน-หุ้นเทนเซนต์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทางการสหรัฐได้เฝ้ากล่าวหาติ๊กต็อกหลายต่อหลายครั้งว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ เจ้าหน้าที่สหรัฐหลายรายยังกล่าวหาไบต์แดนซ์ เจ้าของแอปดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ว่าสามารถส่งต่อข้อมูลที่รวบรวมจากวิดีโอสตรีมมิงของชาวอเมริกันไปยังรัฐบาลจีน แม้คำกล่าวนี้จะถูกปฏิเสธจากติ๊กต็อกแล้วก็ตาม

 

“แม้เราคาดหวังว่าจะพบทางแก้ไขปัญหาในเร็ววัน ทว่าด้วยสิ่งที่เกิดขึ้น ผมลำบากใจอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งให้ทุกคนทราบว่าผมตัดสินใจลาออกจากบริษัทแล้ว” เขาเขียนในจดหมาย

 

ก่อนหน้าเข้ามาร่วมงานกับติ๊กต็อกในเดือนพฤษภาคม นายเมเยอร์ เป็นอดีตประธานแผนกธุรกิจสตรีมมิงของบริษัทดิสนีย์

นอกจากการประกาศลาออกของซีอีโอแล้ว ยังมีข่าวที่อ้างอิงแหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนามว่า ติ๊กต็อกกำลังจะประกาศขายกิจการในสหรัฐในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า โดยแหล่งข่าวระบุว่า ติ๊กต็อกยังไม่ได้ตัดสินใจขายกิจการให้บริษัทใด ขณะที่กำลังเจรจากับบริษัทออราเคิล , ไมโครซอฟท์ และบริษัทสหรัฐแห่งที่ 3 ซึ่งอาจจะเป็นวอลมาร์ท

 

มีการคาดการณ์ว่า ติ๊กต็อกอาจขายกิจการในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในวงเงินราว 2-3 หมื่นล้านดอลลาร์