อัพเดตข่าวโควิดก่อนเริ่มวันใหม่

26 ส.ค. 2563 | 23:27 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลกแม้จะมีข่าวดีเกี่ยวกับ การทดลองวัคซีนต้านไวรัสที่มีความคืบหน้า แต่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับพบว่า มีการตรวจพบผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว กลับมาติดเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง ซ้ำยังเป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ 

 

WHO ยอมรับผู้ที่หายดีจากโควิดอาจกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง

แพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์โคฟ หัวหน้าแผนกโรคอุบัติใหม่ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ที่หายดีจากโรคโควิด-19 อาจกลับมาติดเชื้อได้อีกครั้งหนึ่ง แม้ขณะนี้ถือเป็นกรณีที่พบได้ยากก็ตาม

 

"สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่ามีการเกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่เรารู้ว่ามันเกิดขึ้นได้"


อัพเดตข่าวโควิดก่อนเริ่มวันใหม่

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครจะมีการติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ เขาก็ควรที่จะยังคงรักษาระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามกฎรักษาสุขภาพอย่างเคร่งครัด "เป็นไปได้ที่เราอาจพบการติดเชื้ออีก แต่เราก็มีเครื่องมือที่จะป้องกันไม่ให้เราติดเชื้อ" แพทย์หญิงเคอร์โคฟกล่าวเตือน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยติด 1 ใน 7 ของโลก ประเทศความเสี่ยงต่ำโควิด -19

ทุ่ม400ล้าน เร่งผลิต "วัคซีนโควิด"

WHO ชี้วัคซีนเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถยุติโควิด-19 ระบาด

ยุโรปพบเคสยืนยันผู้ป่วยโควิดที่หายแล้ว กลับมาเป็นอีก แต่เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์

มาร์ก แวน แรนสต์ นักไวรัสวิทยาและสมาชิกคณะกรรมการโควิด-19 ของเบลเยียม เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (25 ส.ค.) ว่า พบผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อเดือนมี.ค. และรักษาหายแล้ว กลับมาติดเชื้ออีกครั้งในเดือนมิ.ย. แต่เป็นไวรัสโคโรนาคนละสายพันธุ์ และมีแนวโน้มว่า อาจพบผู้ที่กลับมาติดเชื้อซ้ำในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีก

อัพเดตข่าวโควิดก่อนเริ่มวันใหม่

ผู้ป่วยหญิงคนดังกล่าวอยู่ในวัย 50 ปี มีสารแอนติบอดี้น้อยมากหลังการติดเชื้อครั้งแรก แม้สารภูมิต้านทานเหล่านั้นอาจช่วยจำกัดอาการป่วยได้ก็ตาม  นักไวรัสวิทยาระบุว่า กรณีการกลับมาติดเชื้อซ้ำอาจจะเป็น ข้อยกเว้นซึ่งจะมีเพียงจำนวนจำกัดเท่านั้น แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดในเรื่องนี้

 

แวน แรนสต์ ย้ำว่า เชื้อไวรัสทั้งหลายมีการกลายพันธุ์ และแม้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ดูเหมือนมีสภาวะทางพันธุกรรมเสถียรกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เท่ากับว่าวัคซีนที่เป็นความหวังอาจจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ตลอดไป หรือแม้แต่แค่ 5 ปีก็ตาม

 

ในวันเดียวกันนั้น ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยว่า พบผู้กลับมาติดเชื้อซ้ำรอบสอง 1 คน โดยครั้งหลังนี้เป็นไวรัสโคโรนาคนละสายพันธุ์กับครั้งแรกเช่นเดียวกับกรณีของเบลเยี่ยม

 

มาเรียน คูปแมนส์ นักไวรัสวิทยาชั้นนำของเนเธอร์แลนด์และสมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ผู้ป่วยดังกล่าวเป็นผู้สูงวัย มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวเสริมว่า ไม่คิดว่ากรณีการติดเชื้อซ้ำจะเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป

 

ทั้งนี้ โฆษกขององค์การอนามัยโลก (WHO) นางมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวระหว่างบรรยายสรุปต่อสหประชาชาติที่กรุงเจนีว่า ว่า มีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อซ้ำรายแรกของโลกที่ฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถึงแม้รายงานยังอยู่ในรูปของข้อมูลที่บอกเล่ากันมา แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการจัดทำเป็นเอกสารเพื่อให้เกิดความชัดเจน ผู้ป่วยดังกล่าวได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อซ้ำหลังจากรักษาหายราว 4 เดือนครึ่ง และเชื้อที่พบครั้งที่ 2 เป็นคนละสายพันธุ์กับครั้งแรก

 

"โมเดอร์นา" เผยผลทดลองวัคซีนต้านโควิดกับอาสาสมัครสูงวัย

โมเดอร์นา ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐ แถลงวานนี้ (26 ส.ค.)ว่า ผลการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ในเฟสแรกกับอาสาสมัครที่มีอายุมากได้ผลเป็นที่น่าพอใจเหมือนกับที่ทดลองกับอาสาสมัครในวัยหนุ่มสาว

 

ทั้งนี้ บริษัทได้ทำการทดลองวัคซีนกับอาสาสมัคร 10 รายที่มีอายุ 56-70 ปี และอีก 10 รายที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 71 ปี โดยอาสาสมัครแต่ละรายได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มๆ ละ 100 ไมโครกรัม

 

ผลการทดลองพบว่า ร่างกายของอาสาสมัครสามารถผลิตแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing antibody) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแอนติบอดีดังกล่าวมีความสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ วัคซีนดังกล่าวไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงต่ออาสาสมัคร

 

ฟิลิปปินส์ครองอันดับ 1 ยอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดในอาเซียน

กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (26 ส.ค.) มีจำนวน 5,277 ราย ส่งผลให้ขณะนี้ฟิลิปปินส์มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 202,361 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

อัพเดตข่าวโควิดก่อนเริ่มวันใหม่

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตรายใหม่จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีจำนวน 99 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 3,137 ราย

 

ทั้งนี้ แม้ ฟิลิปปินส์ จะมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดในอาเซียน แต่ “อินโดนีเซีย” เป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงที่สุดในอาเซียน โดยมีจำนวน 6,944 ราย และมีผู้ติดเชื้อจำนวน 160,165 ราย