สปอติฟายส่งบริการรุกญี่ปุ่น หมายชิงเค้กในตลาดเพลงที่ผู้บริโภคนิยมการฟังผ่านซีดี

09 ต.ค. 2559 | 13:00 น.
"สปอติฟาย" ผู้ให้บริการฟังเพลงออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของโลก เปิดตัวบริการฟังเพลงสตรีมมิ่งในญี่ปุ่น ท่ามกลางความท้าทายในการเจาะตลาดเพลงขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกที่ผู้บริโภคยังฟังเพลงผ่านแผ่นซีดีเป็นหลัก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สปอติฟาย (Spotify) ผู้ให้บริการฟังเพลงผ่านอินเตอร์เน็ตสัญชาติสวีเดน เริ่มเปิดให้บริการฟังเพลงออนไลน์ในตลาดญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยมีให้เลือก 2 รูปแบบ คือ บริการฟรีแต่มีโฆษณา และบริการแบบพรีเมียม ซึ่งไม่มีโฆษณาแต่มีค่าธรรมเนียม 980 เยน ต่อเดือน ซึ่งผู้ใช้บริการของสปอติฟายจะสามารถเข้าถึงเพลงในห้องสมุดกว่า 40 ล้านเพลงที่มีอยู่ นอกจากนี้ สปอติฟายยังตอบสนองรสนิยมของผู้ฟังชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบการร้องเพลงคาราโอเกะ ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์เนื้อร้องเข้าไปในเพลงที่เปิดฟังด้วย

ด้วยจำนวนสมาชิกที่จ่ายค่าธรรมเนียม 40 ล้านคน และผู้ใช้บริการทั้ง 2 รูปแบบรวม 100 ล้านคนทั่วโลก สปอติฟายนับเป็นผู้ให้บริการเพลงสตรีมมิ่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลก โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วใน 60 ประเทศ หลังจากเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2551

ดาเนียล เอ็ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสปอติฟาย คาดหวังว่าสปอติฟายจะสามารถเจาะเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดเพลงของญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา โดยในปีที่ผ่านมามียอดขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 แสนล้านเยน อย่างไรก็ดี ยอดขายส่วนใหญ่ยังคงมาจากแผ่นซีดี ขณะที่ยอดขายจากการดาวน์โหลดและสตรีมมิ่งมีสัดส่วนเพียง 16% จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียงแห่งญี่ปุ่น

การรุกเข้าสู่ตลาดเพลงออนไลน์ในญี่ปุ่นของสปอติฟาย จะต้องเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นอย่าง แอปเปิลมิวสิก จากแอปเปิล อิงค์ และกูเกิล เพลย์ มิวสิก จากอัลฟาเบ็ต อิงค์ รวมไปถึงผู้เล่นท้องถิ่นอย่าง ไลน์ มิวสิก จากเจ้าของแอพพลิเคชันแชต ไลน์ คอร์ป ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการฟังเพลงออนไลน์แบบสมัครสมาชิก อย่างไรก็ตาม สปอติฟายจะเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่รายแรกที่เปิดให้บริการฟังเพลงฟรีแบบมีโฆษณา

"เราต้องการให้สปอติฟายอยู่ที่นี่ไปนานๆ" เอ็กกล่าว และเสริมว่า "สปอติฟายจะนำศิลปิน 2 ล้านคนทั่วโลกมาสู่ญี่ปุ่น และศิลปินญี่ปุ่นที่พวกเราทุกคนรักออกไปเผยแพร่ให้กับทั่วโลก"

บริการฟังเพลงออนไลน์แบบจ่ายค่าธรรมเนียมมีให้บริการอยู่ในน้อยมากในญี่ปุ่นก่อนปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่แอปเปิล กูเกิล และไลน์ ต่างเปิดให้บริการของตนเอง โดยบริการเหล่านี้พยายามดึงดูดผู้บริโภคในช่วงต้นด้วยการเปิดให้ทดลองฟังโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการเหล่านี้ต่างประสบปัญหาในการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคอัพเกรดเป็นบริการแบบพรีเมียม

มิกิโร่ เอโนโมโตะ ผู้เชี่ยวชาญและนักเขียนด้านเพลงดิจิตอลของญี่ปุ่น ให้ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า โมเดลธุรกิจของสปอติฟายที่มีให้เลือกฟังเพลงฟรีแบบมีโฆษณาอาจทำให้สปอติฟายประสบความสำเร็จในตลาดญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันสปอติฟายยังมีจุดอ่อน เช่นเดียวกับบริการเพลงสตรีมมิ่งอื่นๆ คือ มีเพลงญี่ปุ่นให้เลือกฟังน้อย โดยมีเพลงที่อยู่บนชาร์ตออริคอน (Oricon) เพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งให้ฟังเท่านั้น ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้บริการเพลงออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ฟังเพลงในญี่ปุ่นประมาณ 2,000 คนเมื่อปี 2558 โดยสมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียงแห่งญี่ปุ่น พบว่า 42% ฟังเพลงผ่านแผ่นซีดี และมีเพียง 3.6% ที่ฟังผ่านบริการออนไลน์สตรีมมิ่งแบบสมัครสมาชิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจในส่วนดังกล่าวมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ให้บริการรายใดเติบโตได้อย่างชัดเจน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559