คำฮิตติดปาก ในวงการคริปโต

13 เม.ย. 2563 | 01:50 น.

 

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยออกกฏหมาย "การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561"  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่14พฤษภาคม 2561 ขณะที่ปัจจุบันการซื้อขาย (Market Cap )ในสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก ตั้งแต่ต้นปี 2563 มามีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนแนวโน้มการเติบโต

 

เหตุนี้เองเว็ปไซด์ออนไลน์"ฐานเศรษฐกิจ" จึงได้เปิดคอลัมน์ " เปิดโลกสินทรัพย์ดิจิทัล" นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เสริฟให้ผู้อ่านเป็นประจำทุกช่วงกลางเดือน ประเดิมเรื่องแรก "คำฮิตติดปาก ในวงการคริปโต".....

 

 

สำหรับมือใหม่ที่เริ่มเข้ามาในตลาดของสกุลเงินดิจิทัล หลายๆ ท่านอาจจะมีคำถามอยู่ในใจไม่น้อยกับคำศัพท์แปลกๆ ที่มักเห็นผ่านตาตามเว็บข่าวหรือชุมชนนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องด้วยทางผู้เขียนมีความห่วงใยกลัวนักลงทุนหน้าใหม่ของของเราจะคุยกับเพื่อนๆ ในกลุ่มไม่รู้เรื่อง ในวันนี้ทางเราจะมาอัพเดท “คำแสลง” หรือ “คำฮิตติดปาก” ในวงการคริปโตให้ชม  ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น มาชมพร้อมกันได้เลยค่ะ

 

ติดดอย - มีการเข้าซื้อสกุลเงินดิจิทัลนั้นๆ ในช่วงราคาหนึ่ง และต่อมามูลค่าและราคาของเหรียญมีความผันผวนลดลงและนักลงทุนอยู่ในสภาวะขาดทุนในด้านมูลค่า แต่ยังไม่ตัดสินใจขาย

 

ขายหมู - นักลงทุนทำการขายสินทรัพย์ของตนเองในช่วงราคาหนึ่ง เช่น ขายบิทคอยน์ไป 1 เหรียญ ตอนช่วงราคา 1,000 บาท แต่ต่อมาราคาต่อบิทคอยน์ 1 เหรียญกลับพุ่งไปมูลค่าถึง 10,000 บาท ชุมชนนักลงทุนจึงมักเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า “ขายหมู” นั่นเอง

 

ตกรถ - การที่นักลงทุนมีความสนใจซื้อเหรียญสกุลดิจิทัลในราคาหนึ่งแต่ยังไม่เข้าซื้อ และในเวลาต่อมาราคาของเหรียญกลับมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้น นักลงทุนมักเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ตกรถ” หรือการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนักทำกำไรไม่ทันนั่นเอง

 

แบ่งไม้ - การแบ่งเงินที่จะใช้ในการลงทุนและเข้าซื้อเป็นหลายๆ ก้อนเพื่อบริหารความเสี่ยง

 

 

Hodl - แปลงมาจากคำว่า Hold หรือ “ถือ” ไว้นั่นเอง เป็นอีกหนึ่งศัพท์ที่ใช้ในวงการสกุลเงินดิจิทัลอย่างแพร่หลาย  จริงๆ แล้วคำนี้เริ่มต้นมาจากมีผู้ใช้คนหนึ่งได้โพสต์ข้อความในกระทู้หนึ่งของเว็บ Bitcoin Forum ในเดือนตุลาคมปี 2013   แต่จะด้วยความรีบร้อนหรือเปล่าก็ไม่ทราบ จากการที่ต้องการพูดคุยกับผู้คนว่าเค้าเองก็เป็นหนึ่งในสมาคมถือทน ราคาจะขึ้นจะลงก็ไม่ขาย เค้าผู้นี้กลับเผลอพิมพ์คำว่า Holding เป็น “I AM HODLING” สร้างเสียงหัวเราะขึ้นในบอร์ดและกลายเป็นมีมในที่สุด  ในเวลาต่อมาคำๆ นี้กลับแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นศัพท์ติดปากของคนในวงการคริปโตอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

 

Moon - มูน หรือพระจันทร์ คำนี้นักลงทุนมักใช้ในการพูดถึงช่วงราคาที่กำลังพุ่งสูงขึ้น เปรียบเสมือนกราฟเป็นจรวดที่กำลังทะยานออกไปนอกโลก เป็นที่มาของการเรียกราคาที่กำลังพุ่งทะยานว่า “To the moon” นั่นเอง

 

Lambo - แลมโบ หากจะพูดถึงขั้นกว่าของ Moon เหตุการณ์ราคาเหรียญดิจิทัลพุ่งทะลุขอบฟ้าในปลายปี 2017 น่าจะเป็นตัวอธิบายคำๆ นี้ได้เป็นอย่างดี ในเหตุการณ์ที่ราคาเหรียญในตลาดต่างพากันพุ่งทะยานจากปกติไปสูงขนาด 2-4 เท่า (บิทคอยน์เองก็ทำลายสถิติทะลุ 600,000 บาทในปีนั้น ก่อนจะร่วงลงเหลือเพียง 200,000 บาทใน 3 เดือนต่อมา) ที่คนส่วนมากเรียกปรากฏการณ์ที่ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างสิ้นสติว่า Lambo เนื่องจากการเปรียบเปรยถึงผลกำไรที่ได้จากการขายเหรียญออกมาในเวลานั้น

 

ตลาดหมี - เป็นคำเรียกของตลาด side way หรือตลาดที่กราฟและช่วงราคาไม่มีความหวือหวามากนัก ไม่พุ่งขึ้นสูง หรือบางทีอาจจะไปทางราคาตกมากกว่าเสียด้วยซ้ำ  เป็นช่วงที่ทำกำไรล็อตใหญ่ได้ไม่ค่อยมากสำหรับนักลงทุน ส่วนมากจะเป็นการขายและเก็บเรื่อยๆ เสียมากกว่า

 

ตลาดกระทิง - เป็นช่วงที่โปรดปรานที่สุดสำหรับนักลงทุนทุกตลาด ใช้เรียกช่วงเวลาที่ราคาและกราฟพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ  เป็นช่วงที่นักลงทุนหรือคนบนดอยจะมีโอกาสลงดอยและทำกำไรได้

 

All Time High - ใช้เรียกช่วงราคาเหรียญดิจิทัลหรือหุ้นที่พุ่งมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยเป็นมาทั้งหมดตั้งแต่เปิดตลาด

 

Arbitrage - การซื้อสินทรัพย์ในตลาดที่มีราคาถูกไปขายในตลาดที่มีส่วนต่างของราคามากกว่า

 

Whale - นักลงทุนที่มีเงินในมือมหาศาลและโดยการ การโยกย้ายเงินในกระเป๋าอาจสร้างแรงกระเพื่อมในเรื่องของราคาขึ้นในตลาดได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ในวงการเงินดิจิทัลถึงขนาดมีช่องทางการแจ้งเตือนหากพบการโอนย้ายเงินจำนวนมหาศาลใน Transaction

 

ค่าดิฟ - เป็นคำย่อของค่า Difficulty หรือ ค่าความยากในการขุดเหรียญ

 

Fomo - ความหมายเดียวกับการกลัวตกรถนั่นเอง จริงๆ แล้วมาจากคำว่า Fear of Missing Out หรือการถูกทิ้งไว้คนเดียวขณะที่ชาวบ้านได้กำไรไปถึงไหนๆ แล้ว

 

 

Cut loss - การขายเงินดิจิทัลหรือสินทรัพย์นั้นๆ ไปทั้งที่ขาดทุนในเหตุการณ์ที่จู่ๆ มูลค่าในตลาดก็ตกลง  เพื่อพยายามรักษามูลค่าโดยรวมของ Port ตัวเองเอาไว้

 

Take profit - เป็นการขายเพื่อเอากำไรนั่นเอง หลายๆ ท่านจะเคยเห็นคำๆ นี้ผ่านตากันมาบ้าง  เช่น “เอาเงินเข้าซื้อถึงมูลค่าจะเพิ่มไปมากแค่ไหน แต่ถ้ายังไม่ขายเอากำไรออกมาบ้าง ก็ยังถือว่าคุณไม่ได้อะไรอยู่ดี”

 

Air drop - แบบตรงตัวเลยก็คือ “กล่องกู้ชีพ” นั่นเอง  เปรียบเสมือนเครื่องบินที่บินผ่านมาพร้อมปล่อยกล่องติดร่มชูชีพให้ลอยลงสู่พื้นโลก  เพื่อที่ผู้คนบริเวณนั้นจะสามารถเปิดและใช้ประโยชน์ได้ต่อไป  ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัล คำๆ นี้มักใช้เรียกเหตุการณ์ที่ตลาดหรือโปรเจคใดๆ ทำการตลาดโดยการ “แจกเหรียญ” ฟรี ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ นั่นเอง

 

Fork -  ปกติแล้วอาจจะแปลว่า “ส้อม” แต่ในวงการเงินดิจิทัลนั้นคำๆ นี้มีใช้เรียกถึงปรากฏการณ์ที่เหรียญบางอย่าง ที่มีการพัฒนาบล็อคเชนอีกโปรเจคขึ้นมา (หรือแตกตัวออกจากองค์กรเดิม) เป็นโปรเจคใหม่ๆ  โดยมากมักมีการทำการตลาดให้เหรียญเหล่านี้โดยการ “ใครที่ถือเหรียญหลักไว้ จะมีการได้รับแจกเหรียญ Fork เหล่านี้ฟรีๆ ตามแต่อัตราส่วนที่กำหนด”
Halving - อันนี้เป็นคำเรียกปรากฏการณ์ “หั่นผลตอบแทนจากการขุด” ยกตัวอย่างเหรียญ Bitcoin ที่จะมีการ Halving ผลตอบแทนที่ได้จากการขุดลงทุกๆ 4 ปี โดยปรากฏการณ์ Halving ของราคาบิทคอยน์ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งเร็วๆ นี้คือช่วงเดือนพฤษภาคม 2020  พร้อมด้วยความคาดหวังของคนในชุมชนที่ราคาบิทคอยน์จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องด้วยทุนในการขุดเท่าเดิมแต่ผลตอบแทนที่น้อยลงถึงครึ่งหนึ่ง 

อนึ่ง เหรียญบิทคอยน์แรกเริ่มนั้นทุกๆ Transaction Block จะให้ผลตอบแทนกับทางนักขุดที่ 50 BTC/Block ในปี 2009 

 

Fiat Money - เงินสดหรือเงินกระดาษที่มีมูลค่าการจากรับรองของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ

 

Altcoin - เหรียญสกุลแยกย่อยที่ไม่ใช่สกุลหลักๆ ในตลาด ยกตัวอย่างเหรียญสกุลหลักที่คนรู้จักอย่างแพร่หลายและมักถูกใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญชนิดอื่นๆ เช่น Bitcoin, Ethuream, Dodge

 

Cen - Centralized  หากแปลตรงๆ ก็จะหมายถึง “ศูนย์กลางหรือศูนย์รวม” แต่ในแง่ของสกุลเงินดิจิทัล คำๆ นี้มักถูกใช้พูดถึงระบบอะไรก็ตามแต่ที่มีลักษณะการทำงานแบบรวมศูนย์ หรือมีหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจควบคุมกระจุกอยู่เพียงจุดเดียว

 

Dcen - Decentralized  แปลแบบตรงตัวก็คือ “ระบบไร้ศูนย์กลาง” ในโลกของสกุลเงินดิจิทัลใช้คำนี้เรียกระบบอะไรก็ตามแต่ที่ใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายข้อมูล ไม่กระจุกอยู่เพียงจุดศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว

 

สำหรับคำศัพท์ที่น่าสนใจในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ทางเราได้รวบรวมมาดังข้างต้นถือเป็นคำยอดฮิตที่มักเห็นผ่านตาในวงการนักลงทุนกันค่อนข้างบ่อย สำหรับนักลงทุนใหม่ๆ หรือทางผู้ที่สนใจเริ่มเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล ท่านสามารถเริ่มต้นศึกษาข้อมูลได้เพิ่มเติมจากทางเว็บไซต์ bitkub.com หนึ่งในกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตจากกลต.และในปัจจุบันยังมี Volumn การซื้อขายเป็นอันดับ 1 อีกด้วย

 

 

ขอบคุณข้อมูลที่มา  : bitkub.com