'ไลน์-แกร็บ' ชิงปักธงฝากซื้อของสดผ่านแอพ

28 ม.ค. 2563 | 09:20 น.

 

ต้องยอมรับว่าบริการฟู้ดดีลิเวอรี ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสของดิจิทัล ซึ่งสถิติที่น่าแปลกใจคือการสั่งซื้ออาหารผ่านแอพพลิเคชันในระยะทางจัดส่งไม่ถึง 100 เมตร เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการขายสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ในกรุงเทพฯ ที่มีการเติบโตถึง 17% จากอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2559 จาก 1.1% และจะโตถึง 5.7% ในปี 2573 ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของบริการฝากซื้อของสดออนไลน์ที่ตอนนี้มีผู้เล่นหลายเจ้าโดดเข้ามาแข่งขันในตลาด

นายเจเดน คัง รองประธานบริหารฝ่ายกลยุทธ์ LINE ประเทศไทยและหัวหน้าธุรกิจ LINE MAN เปิดเผยว่า ไลน์แมนได้เปิดตัวบริการ Mart Service บริการซื้อสินค้าประเภทของสด ของใช้ภายในบ้าน (Grocery) จากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า ด้วยการประกาศความร่วมมือกับ HappyFresh แพลตฟอร์มซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ สตาร์ตอัพจากประเทศอินโดนีเซียที่ได้เข้ามาทำตลาดในไทยกว่า 5 ปีแล้ว ทั้งนี้สำหรับภาพรวมธุรกิจของไลน์แมนในปีที่ผ่านมาได้มีการขยายพันธมิตรร้านอาหารกว่า 1 แสนร้าน ขยายบริการไปใน 7 เมือง ครอบคลุม 15 จังหวัดทั่วประเทศ และมียอดการใช้งานเติบโต 3 เท่า ปัจจุบันไลน์แมนมีฐานลูกค้าผู้ใช้งานแอกทีฟกว่า 3 ล้านรายต่อเดือน

 

'ไลน์-แกร็บ' ชิงปักธงฝากซื้อของสดผ่านแอพ

 

ด้านนางสาววรานันท์ ช่วงฉํ่า หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด LINE MAN กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาผู้ใช้ของไลน์แมน พบว่ากลุ่มผู้ใช้หลักๆ คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือคนโสดที่อาศัยอยู่คนเดียว, กลุ่มผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง, กลุ่มพ่อแม่รุ่นใหม่ ที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตหลายบทบาทหน้าที่ และกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่มีดีมานด์ในการสั่งสินค้า ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของมาร์ท เซอร์วิส


 

ทั้งนี้บริการมาร์ท เซอร์วิสจะเข้ามาตอบโจทย์ความเคลื่อนไหวของตลาด โดยเปิดตัวเมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาซึ่งให้บริการเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ขณะที่ก่อนหน้านี้ไลน์แมนได้ให้บริการซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ (Convenience) ซึ่งความแตกต่างระหว่างมาร์ท เซอร์วิส และ คอนวีเนียน คือ มาร์ท เซอร์วิสจะใช้เพื่อวางแผนการซื้อสินค้าเพื่อใช้งานในบ้าน วัตถุประสงค์การใช้บริการแตกต่างกัน ขณะที่คอนวีเนียนจะซื้อสินค้าจาก 7-11 เป็นหลัก ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องใช้ทันที สำหรับเรื่องของค่าบริการนั้นตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่การจัดโปรโมชันอย่างต่อเนื่องจะกระตุ้นและสร้างการเรียนรู้ให้กับลูกค้ามากขึ้น สำหรับช่วงการเปิดตัวบริการในช่วงแรกนั้นค่าบริการในการจัดส่งฟรี เมื่อซื้อครบ 250 บาท โดยมูลค่าการสั่งซื้อต่อครั้ง (Basket Size) จากที่ผ่านมาอยู่ที่ 600 บาท

“เราเชื่อว่า Active User กว่า 3 ล้านรายจะช่วยทำให้ทรานแซกชันของบริการ มาร์ท เซอร์วิสเติบโตขึ้นได้”

ทั้งนี้มาร์เก็ตแชร์ในปัจจุบัน บริการซื้อของสดออนไลน์ (Online Grocery) ยังไม่มีคู่แข่งที่ชัดเจน เนื่องจากตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงเริ่มต้น ตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์นั้นมีสัดส่วนประมาณ 2-3 % ของยอดขายรวม แต่มีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต จากการเป็นที่นิยมของแอพดีลิเวอรีที่นำเสนอบริการที่หลากหลายด้าน จากความคุ้นชินในการใช้บริการฟู้ดดีลิเวอรีแต่เดิม ประกอบกับการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่มาพร้อมกับความต้องการด้านสินค้าของสด สำหรับแฮปปี้ เฟรชนั้นเข้ามาให้บริการในไทยประมาณ 5 ปีและเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของบริการออนไลน์ โกรเซอรีในไทย ซึ่งหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมคือ นํ้าและเครื่องดื่มรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สินค้าที่มีขนาดใหญ่ แพมเพิร์สเด็ก ขนมต่างๆ ปัจจุบันไลน์ แมนให้บริการหลักๆ

อย่างไรก็ตามบริการในรูปแบบนี้ยังมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอย่างแกร็บ ได้เปิดให้บริการมาแล้วก่อนหน้านี้บนฟีเจอร์ Groceries-ของใช้ทั่วไป ซึ่งล่าสุดได้จับมือท็อปส์เพิ่มบริการส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตบนแอพเพื่อขยายการเติบโตของผู้ใช้บริการอีกด้วย

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563