รถไฟพลังงานไฟฟ้า เส้นหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เชื่อมค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย

10 ก.ย. 2559 | 07:00 น.
โครงการรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ได้รับการยืนยันจากการกล่าวรายงานของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในคราวที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเพื่อทดสอบขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คันเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันจากทั้ง 4 เส้นทางที่รัฐบาลมีแผนดำเนินการ

[caption id="attachment_95860" align="aligncenter" width="700"] พื้นที่โครงการตามแนวเส้นทางรถไฟช่วงชุมชนทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ พื้นที่โครงการตามแนวเส้นทางรถไฟช่วงชุมชนทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์[/caption]

โดยรถใช้พลังงานไฟฟ้าเส้นทางนี้เป็นการต่อขยายโครงข่ายจากสถานีด่านปาดังเบซาร์ระหว่างชายแดนไทยกับมาเลเซียเพื่อให้เชื่อมต่อกับระบบรถไฟทางคู่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าสายอิโปห์-ปาดังเบซาร์ ที่ปัจจุบันมาเลเซียเปิดให้บริการเชื่อมโยงได้ถึงสถานีหาดใหญ่แล้ว เพื่อการขนส่งสินค้าและโดยสาร อีกทั้งยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของการค้าชายแดนระหว่างสองประเทศ ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การกระจายความเจริญจากเมืองสู่เมืองได้อย่างกลมกลืนกันมากขึ้น

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ถึงสถานีปาดังเบซาร์ ระยะทางรวม 44.5 กิโลเมตร ศึกษาเพื่อใช้ความเร็วไว้ 4 รูปแบบคือ 80,100,120 และ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนาดความกว้างของราง 1 เมตร มีทั้งรูปแบบทางคู่ระดับดินและทางยกระดับ เป็นแนวเส้นทางรถไฟเดิม มี 4 สถานี คือ สถานีชุมทางหาดใหญ่ สถานีศาลาทุ่งลุง สถานีคลองแงะ และสถานีปาดังเบซาร์ และยังมีอีก 3 ป้ายหยุดรถคือ ป้ายบ้านพรุ ป้ายคลองรำ และป้ายท่าข่อย

โดยระบบไฟฟ้าที่ใช้จ่ายไฟให้กับขบวนรถจะใช้เป็นระบบจ่ายไฟเหนือหัวขบวนรถ(Overhead Catenary System :OCS)โดยจะก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยบริเวณสถานีคลองแงะ มีมูลค่าโครงการรวม 13,341 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) 18.78% และมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน(Financial Inter Rate of Return : FIRR) 0.30% ล่าสุดเปิดรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ไปครบ 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา

โดยแนวเส้นทางตามจุดตัดต่างๆจะมีการก่อสร้างถนนกลับรถยกระดับข้ามทางรถไฟจำนวน 6 แห่ง ถนนลอดทางรถไฟโดยใช้ท่อเหลี่ยม จำนวน 15 แห่ง และสร้างสะพานรถไฟข้ามจุดตัด จำนวน 10 แห่ง โดยการออกแบบสถานีมีแนวคิดที่ประยุกต์ให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเดินทางและการเข้าถึงของพื้นที่ชุมชน พัฒนาเชิงพาณิชยกรรมเพื่อการพัฒนาในอนาคตคาดการณ์ว่าในปีที่เปิดให้บริการจะมีปริมาณการเดินทางโดยสารและการขนส่งสินค้าในปี 2564 จำนวน 4,732 คนต่อวัน และจะมีพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการเวนคืน 21 ไร่ 3 งาน 91 ตารางวา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559