กทม.ปั้นแลนด์มาร์คใหม่ กลางกรุง ลุย‘สะพานเขียว’เชื่อม 2 สวน "เบญจกิติ-ลุมพินี

30 พ.ค. 2564 | 04:47 น.

กทม.ลุยปรับภูมิทัศน์-ปรับโครงสร้างสะพานเขียวเชื่อม 2 สวนใหญ่ “เบญจกิติ-ลุมพินี” หารับเหมาสร้าง 200 วันงบ 260 ล้าน  จากแยกสารสินคร่อมบนตัวคลองไผ่สิงโต ผ่าน 3 ชุมชนข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร (ท่าเรือ-ดินแดง)

 

ท่ามกลางความเจริญที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้าและย่านพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ กลางใจเมืองแต่กลับมีพื้นที่สีเขียวแทรกตัวขั้นกลางทำหน้าที่เป็นปอดสำหรับคนกรุงอย่างไรก็ตามเพื่อให้พื้นที่สีเขียวมีมูลค่าที่มากกว่าการพักผ่อน กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงมีแผนปรับภูมิทัศน์ ก่อสร้างสะพานเขียว เชื่อมสองสวนสาธารณะเข้าด้วยกันระหว่างสวนเบญจกิติ ใกล้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษกเนื้อที่ 320 ไร่กับสวนลุมพินีเนื้อที่ 360 ไร่ บริเวณแยกศาลาแดง ถนนพระรามที่ 4 เขตปทุมวัน ซึ่งปัจจุบันกรมธนารักษ์อยู่ระหว่างปรับปรุง

โดยยังไม่รวมการเดินไปมาหาสู่สวนใกล้เคียง อย่างสวนชูวิทย์ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง พื้นที่ 8 ไร่ สุขุมวิทซอย 10 หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเชื่อมสวนสาธารณะเบญจกิตติกับสวนสาธารณะอื่น ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

 นายศักดิชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กทม.อยู่ระหว่างเสนอของบประมาณจากสภากทม. วงเงิน 260 ล้านบาท งบสะสมนอกเหนือไปจากงบประมาณ 2565  เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ทั้งโครงสร้างสะพานที่มีอยู่เดิม ขยายให้ขนาดกว้างขึ้น รองรับทางจักรยาน, คนเดิน, นักท่องเที่ยว กลุ่ม ออกกำลังกาย โดยสะพานแห่งนี้จะมีความยาวประมาณ 2-3 กิโลเมตร เชื่อมสวนสาธารณะลุมพินีกับสวนเบญจกิติ  ตลอดแนวสะพานจะปลูกไม้ดอกไม้ประดับลักษณะสวนลอยฟ้า เรียกว่าสะพานสีเขียวเชื่อมต่อไปยัง 2 สวนดังกล่าวแบบไร้รอยต่อ ระยะเวลาก่อสร้าง 200 วัน หลังได้รับงบประมาณ  ที่ผ่านมาทั้งสองสวนสาธารณะไปมาหาสู่กันลำบาก เนื่องจากมีทางพิเศษ (ดินแดง) เฉลิมมหานคร (ท่าเรือ-ดินแดง) ผ่ากลางอยู่

นอกจากนี้ กทม.จะยกระดับเพิ่มคุณภาพชุมชนโปโลบริเวณใต้คลอง และชุมชนโดยรอบ รวมกว่า 1,500 ครัวเรือนจัดเป็นโซนเศรษฐกิจการค้า ให้ชาวบ้านนำสินค้าออกวางขาย ดึงนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ นอกจากเดินชมสวน ซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ จุดเช็กอิน

“การปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบสะพานเขียว กทม.จะหาบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มาดำเนินการแต่มีความเป็นห่วงพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งมีทั้งชุมชนและมัสยิด จึงต้องปรับปรุงเพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีพื้นที่สีเขียว น้ำในคลองใสขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชาวชุมชน”

สำหรับโครงสร้างสะพานเขียว เดิมเป็นทางเดินและทางจักรยานเชื่อมระหว่างสวนเบญจกิติ (ใกล้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) กับสวนลุมพินี ที่มีความยาว 1.3 กิโลเมตร แต่การปรับโฉมใหม่จะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิม โดยยกระดับขนาดความกว้างสุด 7.59 เมตร เล็กสุด 3 เมตร เริ่มจากแยกสารสินซึ่งคร่อมบนตัวคลองไผ่สิงโต ผ่าน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนซอยโปโล ที่มีอยู่ 420 ครัวเรือน ชุมชนซอยร่วมฤดี ที่มี 260 ครัวเรือน และชุมชนโบสถ์มหาไถ่ ที่มี 1,500 ครัวเรือน ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร (ท่าเรือ-ดินแดง) ข้ามถนนดวงพิทักษ์ (ข้างโรงงานยาสูบ) มาเข้าพื้นที่สวนเบญจกิติ โดยมีรั้วสแตนเลสตลอดสองข้างทาง

บนสะพานจะสร้างเป็น จุดสวนหย่อมไม้ดอกไม้ประดับตลอดเส้นทาง มีจุดนั่งพักผ่อนชมวิว โดยมีจุดที่เป็นแลนด์มาร์กถ่ายรูป 3 จุด ได้แก่ ตรงบริเวณแยกถนนสารสิน จุดข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร และจุดสะพานลอยข้ามถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นปลายโครงการที่ยืดเพิ่มจากเดิม 300 เมตร ทำให้โครงการมีความยาวเพิ่มเป็น 1.6 กิโลเมตร

กทม.ปั้นแลนด์มาร์คใหม่ กลางกรุง ลุย‘สะพานเขียว’เชื่อม 2 สวน "เบญจกิติ-ลุมพินี

หน้า 19-20  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง