อสังหาฯปี 63 ร่วงแรง รายได้หด กำไรหาย 

04 มี.ค. 2564 | 04:33 น.

    โควิด-19 โจทย์หิน กดดันผลประกอบการ ขาใหญ่อสังหาริมทรัพย์ปี 63 แพแตก ส่วนใหญ่กำไรสุทธิร่วงแรง เหตุปรับราคาแข่งขัน กู้ยอดโอนฯ ขณะเอพี นำโด่งผู้นำตลาด ในแง่รายได้สูงสุด ด้านแลนด์แอนด์เฮ้าส์ กำไรสูง 7 พัน แต่ลดลงจากธุรกิจโรงแรมรั้ง จับตาเอสซี เข็นแนวราบไล่บี้ TOP5  ตั้งรับ รุกสู้ เข้มสภาพคล่อง คือ แผนยุทธ ศาสตร์สำคัญ ที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย ต่างใช้เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจ ฝ่าปีสุดโหด 2563

 

 

 

หลังจากทั่วโลก และเศรษฐกิจในประเทศปั่นป่วนจากโจทย์ใหม่ โดย “ไวรัสโควิด-19” ได้เข้ามาท้าทายทุกมิติ ตั้งแต่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงัก วิถีดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปจากปกติอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ ผู้พัฒนาฯ ต่างต้องตั้งแผนเผชิญวิกฤติในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การปรับเป้ายอดขาย-รายได้ให้สอดคล้องกับสภาวะ, แผนทางการตลาด- ช่องทางการขายใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นลูกค้า ไปจนถึงการชะลอก่อสร้าง และเปิดโครงการใหม่บางโครงการลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายตุนเงินในกระเป๋าให้ได้มากที่สุด

ภายใต้ภาพไม่ชัด ว่าวิกฤติจะจบลงเมื่อไร ซ้ำร้ายเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น กลับเผชิญกับโควิดระลอก 2 ยากจะเข็นกำลังซื้อ จากภาระหนี้และความไม่แน่นอนของรายได้ลูกค้า เกิดการระเบิดศึก หั่นราคาขายครั้งใหญ่ เพื่อกู้ทั้งรายได้และสภาพคล่อง จบปีตลาดหดตัว ในแง่โอนกรรมสิทธิ์ราว 10% 
    

 

อสังหาฯปี 63 ร่วงแรง รายได้หด กำไรหาย 

 

ขณะบริษัทต่างๆ แม้พยายามรักษาระดับของการโอนฯ และความสามารถในการทํากําไร แต่กลับไม่รอดซะทุกราย มีเพียงบางราย ที่ผลประกอบการยังเป็นที่น่าพอใจ สะท้อนถึงการรับมือได้อย่างดี โดยบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ ว่า สำหรับปี 2563 นั้น บริษัทบรรลุเป้าหมายในแง่รายได้ และทําสถิติสูงสุดในอุตสาหกรรมที่ 29,888 ล้านบาท หลังจากยอดขายในสินค้าบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ ที่โดดเด่น

ผลักดันให้รายได้ทั้งปีในกลุ่มแนวราบ ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 32.5%  ขณะเดียวกัน แม้สภาพตลาดคอนโดมิเนียม จะค่อนข้างซบเซา แต่สามารถปิดการโอนกรรมสิทธิได้ 6 โครงการ โดยเฉพาะโครงการร่วมทุน ช่วยเพิ่มรายได้สูงสุด 16,239 ล้านบาท ส่งผลภาพรวมกำไรพุ่งสูงกว่า 37% ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาด ขณะ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งมีตัวเลขกำไรสุทธิสูงสุด 7,144 ล้านบาท แต่นับว่าเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 28.73% โดยบริษัทให้เหตุผลว่า มาจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการในกลุ่มธุรกิจโรงแรมหดตัว จากสถานการณ์โควิด-19 และกำไรขั้นต้นจากการขายปรับลดลง จากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดแนวราบ ด้าน บมจ.ศุภาลัย สรุปปี 2563 มีกำไรสุทธิราว 4,251 ล้านบาท ลดลง 21% จากปีก่อน

เนื่องจาก ระบุว่า รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง โดยเฉพาะจากกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม หลังจากช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทมีโครงการสร้างเสร็จและครบกําหนดโอนฯ ถึง 5 โครงการ แต่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด ไม่สามารถทำยอดได้ตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม รายได้จากบ้านและทาวน์เฮาส์ปรับตัวดี เป็นสัดส่วนขับเคลื่อนได้ถึง 68% ส่วนบมจ. พฤกษา รายงานว่า บริษัทมียอดขาย และรายได้จากการขายโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้าน, ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมที่ลดลง

ซึ่งมาจากจำนวนโครงการที่เปิดตัวน้อยแค่ 13 โครงการในปีนี้ หลังจากได้ประเมินและทำแผนตั้งรับกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และกังวลต่อมาตรการ LTV ทำให้ปี 2563 บริษัท มีรายได้ลดลง 26.7% ที่ 29,244 ล้านบาท ขณะกำไรสุทธิก็ลดลงเช่นกันสําหรับบมจ.เอสซี ปี  2563 นั้น บริษัทมีรายได้จากการดําเนินงาน 18,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,340  ล้านบาท ซึ่งมาจากการเติบโตของจากการขายโครงการแนวราบเติบโตถึง 27% อย่างไรก็ตาม จากการปรับราคาเพื่อแข่งขันในตลาด ทำให้กําไรสุทธิปรับลดลงเล็กน้อย 
   

 

 

 สำหรับ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ระบุว่า นอกจากบริษัทได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักช่วงโควิด-19 แล้ว แม้จะมีการปรับแผนดำเนินการให้สอดคล้อง ทั้งปรับเป้ายอดขาย ลดการเปิดโครงการใหม่ และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกระตุ้น แต่รายได้จากการขายโครงการที่พักอาศัยทั้งคอนโดมิเนียมและบ้าน ยังปรับลดลงจากปีก่อน มากกว่า 31% ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลง 42.97% อย่างไรก็ตาม พบบริษัทมีรายได้จากธุรกิจเช่า-บริการเพิ่มขึ้นดี จากการปล่อยเช่าโครงการลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต คลอง 1 (เฟส 3) และรายได้ค่าบริหารโครงการเพิ่ม รวมถึง แง่ยอดขายกลุ่มแนวราบ New high
    

ในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับ บมจ.อนันดา ที่อยู่ในภาวะขาดทุน จากการลดลงของรายได้การขาย และส่วนแบ่งจากโครงการร่วมทุนที่ลดลง ทั้งนี้ ยังต้องจับตาดูถึง การประกาศผลประกอบการอีก 3 รายสำคัญ ทั้ง บมจ.แสนสิริ ที่แจ้งว่าปีที่ผ่านมา มียอดการโอนกรรมสิทธิ์สูง 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในสัดส่วนสูง แต่คาดกำไรจะลดลง จากกลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้ก่อนหน้า รวมถึง บมจ.ออริจิ้น และบมจ.เสนาฯ ที่อยู่ระหว่างรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ด้วย 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,657 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2564