'อัลติจูด'เสนอ กระตุกคนรวย ซื้อบ้านเงินสด

08 ม.ค. 2563 | 08:30 น.

ผ่ามุมคิด

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ผ่าตัดครั้งใหญ่อสังหาฯไทย ปี 2563 เหตุกำลังซื้อยังถดถอย 2 ดีเวลอปเปอร์ไฟแรงแห่งบริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ฯ นายชยพล หรรรุ่งโรจน์ และนายขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย สะท้อนมุมมองเปิดศักราชใหม่ ทำตลาดอย่างไรเมื่อผู้ซื้อ คือ คนตัดสิน และโปรดักต์ คือ ตัววัดหลังคว้าวิกฤติปี 2562 เป็นโอกาส ทำผลงานด้านยอดขายโตได้กว่า 300% ท่ามกลางรายใหญ่ชะลอตัว แนะรัฐอุ้มอุตสาหกรรมอสังหาฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เสนอแรงมาตรการกระตุกกลุ่มเศรษฐีซื้อบ้านเงินสด แลกงดภาษี ชี้ช่วยหมุนเงินเข้าระบบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หลังมาตรการก่อนหน้าออกฤทธิ์ดีแต่ไม่ครอบคลุม

อสังหาฯกับความมั่นคง

นายชยพล กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาฯ ว่า ที่ผ่านมา ตลาดค่อนข้างได้รับผลกระทบจากนโยบายเชิงควบคุมของรัฐ (แอลทีวี) ที่หวังจำกัดความเสี่ยง แต่อย่างไรก็ตาม ศักราชใหม่ อยากให้รัฐมองว่าภาคอสังหาฯ เปรียบเป็นกลไกหลักของประเทศ ที่ควรได้รับการดูแลสนับสนุน และควรมีการวางกลยุทธ์สำหรับธุรกิจนี้ในระยะยาว เพราะอสังหาฯ คือ กลุ่มธุรกิจที่รัฐบาลสามารถดึงเงินกลับเข้ามาในระบบได้เร็ว และเยอะที่สุดผ่านเม็ดเงินภาษี เปรียบเป็นความมั่นคงของประเทศ สินทรัพย์มูลค่ารวมกันมหาศาล เมื่อไหร่ตลาดมีมูลค่าเพิ่ม 5-7% จีดีพีเศรษฐกิจก็จะโต 5-7% เช่นกัน ทั้งยังสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ มองมาตรการกระตุ้นแก้ปัญหาหลายด้านก่อนหน้า รัฐมาถูกทางแล้ว ทำให้คนชนชั้นกลาง-ล่าง มีโอกาสเข้าถึง แต่อยากให้เอื้อต่อกลุ่มคนระดับบน ตอบสนองแง่การลงทุนด้วย เพื่อเพิ่มเงินเข้าระบบ ทั้งจะช่วยฝั่งผู้ประกอบการในสภาวะแบบนี้ด้วย

'อัลติจูด'เสนอ กระตุกคนรวย ซื้อบ้านเงินสด

ชยพล หรรรุ่งโรจน์                                                      ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย

แนะรัฐดึงกำลังซื้อคนรวย

ในแง่ผู้ประกอบการ เวลาอยากระบายของ คนกลุ่มแรกที่เรานึกถึง ยอมรับว่า ไม่ใช่คนที่มีรายได้น้อย แต่คือคนที่มีเงินเยอะ เงินที่ฝากไว้ในธนาคาร รัฐเองควรมีนโยบายให้คนนำเงินออม เข้าระบบผ่านการซื้อ-โอนอสังหาฯ เช่น ลดภาษีเงินได้, ภาษีมรดก หรือ ภาษีเฉพาะ เน้นคนที่มีเงินออมซื้อสด เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุน

ไทยควรมีมาตรการส่งเสริมให้คนนำเงินออมมาซื้ออสังหาฯ เช่น ถ้าใครเอาเงินออมมาซื้ออสังหาฯ 100% หรือ 50% รัฐบาลอาจจะลดภาษีต่างๆ ให้ในวันที่ขายต่อ ถ้าทำแบบนี้ คนอาจอยากซื้อ นี่เป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบโดยตรง ดึงเงินจากคนที่มีออกมาใช้

 

การตลาดแบบคนรู้ใจ

ขณะที่นายขวัญชัย ระบุในแง่การแข่งขันของตลาดอสังหาฯยุคนี้ ว่าคาดจากสภาวะที่กดดันหลายด้าน การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น และโฉมหน้าของผู้นำในธุรกิจอสังหาฯ TOP10 อาจเปลี่ยนไป เพราะผู้ซื้อจะดิสรัปต์ผู้ขายเจ้าเดิมๆ ที่ยังคงใช้วิธีคิดโปรดักต์และการขายแบบเก่า เนื่องจากอนาคตจะมีโปรดักต์ดีๆใหม่ๆ เข้ามาในตลาดให้ผู้ซื้อเลือกเยอะขึ้น กลยุทธ์ที่เคยใช้ช่วง 4-5 ปีก่อน จะใช้ไม่ได้ในยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องเปลี่ยนปีต่อปี เราเห็นและเรียกการตลาดยุคนี้ว่าการตลาดแบบคนรู้ใจเพราะการแบ่งกลุ่มลูกค้าจะไม่ได้ถูกแยกตามกลุ่มประชากร, เพศ, อายุ, การศึกษา, เงินเดือน และอาชีพ เหมือนอดีต แต่เปลี่ยนไปจับถึงพฤติกรรม -ไลฟ์สไตล์ สังคม และความสนใจ หรือ ลักษณะนิสัยของกลุ่มลูกค้าแทน โดยมีโปรดักต์ที่ถูกใจลูกค้าเป็นตัววัดความสำเร็จ เพราะตลาดปัจจุบัน กลุ่มผู้ซื้อที่ใหญ่สุด คือ กลุ่มคนยุคใหม่ โดยบริษัทจะเรียกแทนกลุ่มนี้ว่า Gen Me ซึ่งต่างจาก Gen X, Gen Y, Gen Z ฉะนั้นขณะนี้ใครหา Gen Me เจอและสร้างตลาดเฉพาะของตัวเองขึ้นมาได้ จะเป็นโอกาส

 

เป้าพิชิตยอดเขาTOP10

ทั้งนี้ หลังจากปี 2562 บริษัทสร้างผลงานได้โดดเด่น สวนกระแสตลาดรวม ผ่านยอดขาย 2.4 พันล้านบาท เติบโต 300% จากโครงการที่เปิดขาย 2 โปรเจ็กต์ รวมมูลค่า 2.72 พันล้านบาท (อัลติจูด ยูนิคอร์น สาทร-ท่าพระ, พรูฟ สาทร) ถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดในแง่ตัวเลขสำหรับบริษัทขนาดกลาง-ล่าง แต่มีคนรู้จักมากขึ้นในช่องทางออนไลน์ถึง 50 เท่า โดยเป็นผลมาจากการรุกมาร์เก็ตติ้งอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา คว้าจังหวะที่รายใหญ่ชะลอเปิดโครงการใหม่ บวกกับกลยุทธ์ และโปรดักต์ที่มีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์ พัฒนาจากความสนใจของผู้บริโภค ทำให้มีความมั่นใจว่าในระยะ 5-10 ปี ข้างหน้า จะสามารถนำบริษัทขึ้นติด TOP 10 ของตลาดได้ (ยอดขาย 1 หมื่นล้านบาทต่อปี)

เป้าหมายสำคัญ คือ การทำแบรนด์ให้อยู่ในดวงใจของผู้บริโภค เห็นแล้วอยากได้ อยากครอบครอง ในทางตลาดขณะนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมีฐานลูกค้าเยอะขึ้น ฉะนั้นการทำการตลาดก็จะง่ายขึ้น

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,537 วันที่ 5-8 มกราคม 2563

                   'อัลติจูด'เสนอ กระตุกคนรวย ซื้อบ้านเงินสด