“ร่างพรบ.ประชามติ”ฉลุยเพิ่มโทษเอาผิดผู้อยู่นอกราชอาณาจักรได้

22 มิ.ย. 2564 | 11:44 น.

รัฐสภาลงมติเห็นชอบ “ร่างพ.ร.บ.ประชามติ”  618 : 4 เสียง เพิ่มโทษคนที่รณรงค์ให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง-ไม่ไปใช้สิทธิ คุกไม่เกิน 6 เดือน ทั้งให้เอาผิดผู้อยู่นอกราชอาณาจักรได้ด้วย 

วันนี้(22 มิ.ย.64) เมื่อเวลา 11.50 น. ที่ประชุมรัฐสภา ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ท่ีมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. เป็นประธานกมธ.ฯ พิจารณาแล้วเสร็จ ในวาระสอง ต่อเนื่อง หลังจากที่การประชุม เมื่อวันที่ 8 เมษายน ต้องยุติลง เพราะมีปัญหาเรื่องจำนวนสมาชิกที่ใช้นับเป็นองค์ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพิจารณาต่อเนื่อง คงเหลือมาตรา รวมทั้งสิ้น 16 มาตรา ในหมวดว่าด้วยการคัดค้านการออกเสียง และ หมวดความผิดและบทกำหนดโทษ ตั้งแต่มาตรา 54 โดยผลพิจาณาและลงมติรายมาตรา พบเสียงข้างมากยึดตามการแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมาก ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ

กรณีการทำลายบัตรออกเสียงให้ชำรุด หรือ ทำให้เป็นบัตรเสีย หากเป็นบุคคลต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ , กรณีเป็นเจ้าพนักงานหรือผู้ที่มีหน้าที่จัดการออกเสียงประชามติ ต้องโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับ 2 หมื่น-2 แสนบาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี

กรณีทำลายเครื่อง อุปกรณ์ ออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ให้ชำรุด เสียหาย หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการลงคะแนน หากเป็นบุคคล ต้องโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ , กรณีเป็นเจ้าพนักงานหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ต้องโทษจำคุก 1- 10 ปี และปรับ 2หมื่น-2 แสนบาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี

ทั้งนี้ในประเด็นบทกำหนดโทษของการกระทำในการออกเสียงประชามติ ตามมาตรา 2560 กมธ.ได้ปรับเนื้อหาใหม่ โดย กำหนดลักษณะการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

และมีมาตราที่เพิ่มใหม่ ที่ห้ามผู้ใดรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ลงคะแนนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ไปใช้สิทธิ ซึ่งกำหนดห้ามทำตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันออกเสียง 1 วัน จนถึงสิ้นสุดเวลาออกเสียง หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และในมาตราสุดท้าย กมธ.ฯ เพิ่มขึ้นใหม่ โดยกำหนดบทลงโทษผู้ที่ทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ แม้อยู่นอกราชอาณาจักร ต้องได้รับโทษในราชอาณาจักร เช่นเดียวกับการกระทำของผู้เป็นตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิด ที่อยู่นอกราชอาณาจักรให้ถือว่าเป็นการกระทำในราชอาณาจักร

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมใช้เวลาพิจารณารายมาตรา จนถึงเวลา 15.00 น. หรือกว่า 3 ชั่วโมง ได้ลงมติ โดยมติข้างมาก 618 เสียงเห็นชอบต่อร่างพ.ร.บ. ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ในฐานะกมธ.ฯ ได้หารือกับที่ประชุมว่า ขอให้ประธานวินิจฉัยความ ต่อการใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่ยังมีข้อขัดแย้ง กล่าวคือ ข้อ 108 กำหนดให้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปฏิรูป ให้ทำเป็นสามวาระ และให้นำความหมวด 4 บังคับใช้โดยอนุโลม และข้อ 102 ที่กำหนดให้ ภายใน 15 วัน ที่ร่างกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ให้ประธานรัฐสภาส่งไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น

หากศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วันที่ได้รับเรื่อง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนทูลเกล้าฯ ต่อไป กรณีที่องค์กรให้ความเห็นว่ามีข้อความใดที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาแก้ไข ตนจึงขอให้วินิจฉัยเพื่อเป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน

ทั้งนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ในฐานะประธานที่ประชุม กล่าวว่า การหารือดังกล่าว ไม่มีผล แต่สามารถทำเป็นญัตติยื่นต่อประธานรัฐสภา ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ และขาดขั้นตอนใดหรือไม่ และข้อหารือขอให้หารือนอกรอบ 
จากนั้นได้พักการประชุม เพื่อให้สมาชิกได้พักรับประทานอาหารก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาในร่างกฎหมายต่อไป