เพื่อไทย เปิด 4 เหตุผล ต้องแก้ไขรธน.

16 มิ.ย. 2564 | 06:36 น.

เพื่อไทยเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ 60 ทุกทาง ชัยเกษม เผย 4 เหตุผลต้องแก้ไข ชี้ แก้ ม.256 ต้องมี ส.ส.ร.จากประชาชน

ในการเสวนาหัวข้อ "แก้รัฐธรรมนูญ แก้วิกฤตประเทศ?" นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการการเมือง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 4 เหตุผลที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 คือ

1.  ที่มาของรัฐธรรมนูญ มาจากคณะรัฐประหาร ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม แม้จะมีการทำประชามติ แต่เป็นการจัดทำภายใต้เงาของคณะรัฐประหาร ผู้มีความเห็นต่างในการรณรงค์ไม่รับร่าง ถูกจับติดคุก ถูกปรับทัศนคติ จึงเป็นรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริงจึงควรจะแก้ไขให้ถูกต้อง โดยประชาชนควรจะได้มีสิทธิและมีส่วนร่วมในการแก้ไข 

2.  ระบบการเลือกตั้ง เป็นระบบบัตรใบเดียว โดยใช้วิธีคำนวณแบบปัดเศษจนเกิดปัญหามากมาย เกิดพรรคเล็กพรรคน้อย ดังนั้นหากแก้ไขกลับไปเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ คือเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ให้อำนาจประชาชนสูงสุดในการตัดสินใจเลือกใครเป็นผู้แทนราษฎร และเลือกพรรคใดมาเป็นรัฐบาล 

3.  สืบทอดอำนาจ ผ่านตัวแทนคณะรัฐประหารที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี  และพิจารณากฎหมายสำคัญที่กลายเป็นอุปสรรค คือกฏหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่บังคับให้ทุกคนเดินตาม 

4.  สิทธิเสรีภาพของประชาชน  รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้สิทธิเสรีภาพอย่างมีเงื่อนไข และไม่ชัดเจน โดยอ้างว่าให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้ตรงไปตรงมา จึงเห็นว่ามีคนถูกกฎหมายละเมิดสิทธิต่างๆ มากมาย

5.  รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก ต้องใช้เสียง ส.ว. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มาเป็นตัวตั้ง แต่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร จึงแน่นอนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สำเร็จได้โดยง่ายหาก  ส.ว.ไม่เห็นชอบ
 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลที่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น วิธีง่ายสุดคือ ตั้ง ส.ส.ร. มีที่มาประชาชน ประชาชนเป็นคนจัดทำร่าง  ประชาชนให้ความเห็นขอบ และมีประชาชนยอมรับในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นรัฐธรรมนูญประชาชนอย่างแท้จริง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นวิกฤตของชาติ  สร้างปัญหาให้กับประชาชนและประเทศชาติ  พร้อมย้ำว่าตราบใดที่ประเทศยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้ เราจะได้รัฐบาลแบบนี้  และได้ความรับผิดชอบของผู้นำรัฐบาลเพียงเท่านี้ 

นายชูศักดิ์ ระบุว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการรัฐประหาร โดยมีการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และมีบทบัญญัติมากมายหลายประการที่ผิดเพี๊ยนไปจากครรลองประชาธิปไตย เช่น ในอดีตการเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กลับแก้ไขให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้  ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. และยังไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง  รวมทั้งแก้ไขจากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเป็นใบเดียว โดยมีเจตนาเพื่อลดทอนจำนวน ส.ส.พรรคการเมืองขนาดใหญ่ นำระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมมาใช้ในการคิดคำนวนจำนวน ส.ส. คะแนนน้อยไม่ถึงเกณฑ์  มีการคิดค้นสูตรเพื่อให้ มี ส.ส.ปัดเศษเข้าสู่สภา  ระบบนี้จึงมีเจตนาเพียงทำให้พรรคใหญ่ มี ส.ส.ลดลง พรรคใหญ่มีปัญหาอยู่ได้โดยพรรคเล็กสนับสนุน  จึงทำให้เกิดกรณีส.ส.แจกกล้วย เป็นต้น 

ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากบทเฉพาะกาล โดยมาตรา 269 ให้มีกรรมการสรรหา ส.ว.ต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นกลางทางการเมืองสรรหา ส.ว.ให้ได้ 250 คน ซึ่งบุคคลนั้น คือ พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ  ทำให้ประเทศไทยได้ ส.ว.ที่มาจาก อดีต คสช. อดีตนายทหาร เมื่อเลือกนายกรัฐมนตรี   99.99%  เลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร มาเป็นนายกรัฐมนตรี  ซึ่ง ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลนี้มีอายุ  5 ปี ทำให้ ส.ว.ชุดนี้เลือกได้นายกรัฐมนตรีได้ 2 ครั้ง ประชาชนจึงได้เห็นภาพอเนจอนาถเมื่อพลเอกประยุทธ์ถาม ส.ว.ในที่ประชุมวุฒิสภาว่า มีใครไม่เชื่อมั่นนายกฯ ให้ยกมือ ซึ่งไม่มีใครยกมือแม้แต่คนเดียว  นอกจากจะทำตัวเป็นครู  เป็นหัวหน้า  ยังทำผิดข้อบังคับชัดเจนในการประชุมสภาอีกด้วย
เพื่อไทย เปิด 4 เหตุผล ต้องแก้ไขรธน.

นายชูศักดิ์ ยืนยันว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ไขยาก และมีความมุ่งหวังต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับอมตะ แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะเดินหน้าทุกกระบวนการ แม้จะต้องพบเจอกับอุปสรรคตั้งแต่การพิจารณาเพื่อเข้าสู่วาระที่ 1  ซึ่งจะต้องมีเสียงวุฒิสภาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ ส.ว.อย่างน้อย 84 คน เห็นชอบในร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น  ซึ่ง ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ย่อมไม่มีทางให้ผ่านวาระนี้ไปได้  ต่อมาจึงได้เสนอร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งที่แก้ไขได้ยากกว่า  แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันในหลักการและนโยบายมาตลอดว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน  ซึ่งได้ผ่านวาระ 2 แล้ว และกำลังจะลงมติในวาระ 3  ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีคำวินิจฉัยว่าจะต้องถามประชาชนก่อนว่าจะยินยอมให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งได้เกิดการตีความที่หลากหลายออกไป ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมี ส.ส.ร. ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้  พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าจะต้องทำทุกทาง ทั้งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับด้วย 

นอกจากนี้ กรณีที่หลายฝ่ายประเมินว่าหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง มีการยุบสภาในขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่กระบวนการเดิมคือ กลับไปเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วน  ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของเพื่อไทยจึงเสนอให้นำระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบมาใช้อีกครั้ง  เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ รวมทั้งแก้ไขที่มานายกรัฐมนตรีให้ผ่านกระบวนการในที่ประขุมสภาผู้แทนราษฏร ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภาเหมือนที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังแก้ไขในการเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชนให้รวมอยู่ในกติการะหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนและผู้มีความเห็นที่หลากหลายทางการเมือง โดยเฉพาะสิทธิในการประกันตัวที่ทุกคนต้องได้รับตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษาว่ามีความผิด  รวมทั้งต่อต้านโดยสันติวิธีไม่ให้มีการกระทำรัฐประหาร ไม่ให้ศาลหรือองค์กรอื่นใดยอมรับ การทำรัฐประหารมีความผิดและไม่มีอายุความ ไม่มีนิรโทษกรรม  อีกทั้งเพิ่มบทบัญญัติให้สามารถตรวจสอบศาลหรือองค์กรอิสระได้ 

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือเกมการชิงจังหวะและโอกาส ในวันนี้พรรคเพื่อไทยกำลังจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว วันนี้กำลังจะเริ่มต้นใหม่ มีเกมที่เต็มไปด้วยการสับขาหลอก จึงขอเรียกร้องพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องทันเกม เพราะเมื่อย้อนไปดูสองเดือนที่แล้วที่ร่างตก เราต้องมีบทเรียนว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชิงยื่นแก้ไขร่างก่อนทั้งที่ฝ่ายค้านอยากแก้มาโดยตลอด  ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีกลยุทธ์การขับเคลื่อนสู่เป้าหมายบนหลักการ แก้รัฐธรรมนูญเพื่อกำจัดจุดอ่อนทางการเมือง เพื่อให้พี่น้องได้ประโยชน์ถึงปากท้อง และทำในสิ่งที่เป็นไปได้  

จากบทเรียนการผลักดันเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามองว่า ประเด็นการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นเกมสับขาหลอกของรัฐบาล นอกจากทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านทะเลาะกันแล้ว พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลยังระส่ำระสายด้วย สุดท้ายเมื่อเข้าสภา กลายเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลมีเหตุผล สร้างความชอบธรรมให้คว่ำทิ้ง เพราะอ้างว่าไม่มีฝ่ายใดสนับสนุน สรุปไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ ใช้ระบบบัตรใบเดียวแบบเดิม พร้อมย้ำว่า มาตราที่จะต่ออำนาจให้ พลเอกประยุทธ์อย่างแท้จริง  ไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้ง แต่คือ มาตรา 272 เรื่องอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะมาต่ออำนาจให้ พลเอกประยุทธ์ ซึ่งทั้งหมดคือเป็นการสืบทอดอำนาจที่แท้จริง จุดนี้เราต้องล้มให้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน

"ขอขีดเส้นใต้สามเส้นเลยว่าเรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบนั้น เราตกผลึกมานานแล้ว ไม่ได้เปลี่ยนแปลง พปชร.ต่างหากที่ทำเหมือนเรา ฉกเอาของเราไปยื่นก่อน ทำไมเราต้องทิ้งของดีของเรา จึงต้องขอความเป็นธรรมด้วย เรายื่นตามจุดยืนเดิม" นายสุทินกล่าว