อภิปรายงบ 65 เดือด "ภูมิใจไทย" รุมขย่มรัฐบาลลุงตู่

01 มิ.ย. 2564 | 02:00 น.

เปิดประชุมสภาฯ อภิปรายงบ 65 วันเเรก "ภูมิใจไทย" ผิดหวังการจัดสรรงบ หลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นการเขย่าเสถียรภาพรัฐบาล ขณะที่ "ฝ่ายค้าน" เปิดศึกรุมถล่ม “รัฐบาล”

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันแรกเมื่อวานนี้(31พ.ค.64) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 หรือ "งบปี 65" ที่มีขึ้นระหว่าง 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. 64 งบประมาณของหลายกระทรวงถูกหยิบมาเป็นประเด็นร้อน เพราะการพิจารณาครั้งนี้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.66 โดยฝ่ายค้าน ต่างเปิดศึกรุมถล่ม “รัฐบาล” 

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เริ่มชี้แจงว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ตั้งไว้ 3.1 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินงบประมาณแบบขาดดุล โดยดำเนินการให้สอดคล้องสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และมีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์โควิดจะฉุดเศรษฐกิจปี 64 ไม่ให้โตตามเป้า พร้อมกับชี้แจงยุทธศาสตร์ใช้งบ 6 ด้าน มั่นใจใช้งบโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบได้ 
 

ทางฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาลลอย่าง “ภูมิใจไทย” ที่มีจำนวนเสียง 61 เสียง เป็นพรรคร่วมรัฐบาลลำดับหนึ่ง โดยส.ส.พรรคผิดหวังกับการตั้งงบประมาณปี 65 ของรัฐบาล แต่ไม่ได้ตำหนินายกฯ โดยตรงเหมือนกับฝ่ายค้าน แต่มุ่งไปตำหนิสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ "สภาพัฒน์" แทน 

อย่าง “นายชาดา ไชยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อภิปรายมุ่งประเด็นไปที่การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ว่า เป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ให้เกียรติพี่น้องประชาชน เพราะสำนักงบประมาณมีการตัดงบกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แทบทุกกรม งบที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับ 4 หมื่นล้านบาทนั้น ปัจจุบันมีการเบิกจ่ายไปเพียง 2 หมื่นล้าน ยิ่งไปกว่านั้น เบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัยจำนวนกว่า 6 พันล้าน ตั้งแต่การระบาดของโควิดรอบแรก ขณะนี้ยังไม่มีเบิกจ่ายจะให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไปสู้กับข้าศึกอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นมีการตัดแม้กระทั่งงบปฐมภูมิ ถือว่าสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใจดำมาก

จึงขอให้สภาพัฒน์ทบทวนบทบาทของตัวเองใหม่ เพราะแทนที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์ แนะนำการจัดทำงบแก่รัฐบาล กลับมาทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาเสียเอง หากสภาพัฒน์ไม่สามารถวิเคราะห์งบประมาณ ว่าทำอย่างไรได้ ก็ขอให้มาดูงานที่สภาผู้แทนราษฎร

“หรือสำนักงบประมาณคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไม่รัก นายอนุทิน หัวหน้าพรรค เสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ”

 

นอกจากนี้ยังมี "นายภราดร ปริศนานันทกุล” ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติโควิด การจัดสรรจึงต้องไปที่กระทรวงหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญทางกรมควบคุมโรคได้เสนองบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีน 70 ล้านโดส มาฉีดให้ประชาชนทั้งประเทศ แต่งบส่วนนี้กลับถูกตัดออก โดยอ้างเหตุผลว่าจะให้ไปใช้งบกลางหรืองบเงินกู้ นี่จึงเป็นความผิดหวังต่อการจัดสรรงบประมาณของสำนักงบประมาณในปีนี้

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า การจัดสรรงบในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ไม่ได้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการเปิดประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งมีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ในปีที่แล้วมีการจัดสสรรงบประมาณเป็นจำนวน 4.8 พันล้าน แต่ปีนี้กลับถูกตัดเหลือเพียง 2.8 พันล้าน หรือถูกตัดไปถึง 2 พันล้าน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการจัดสรรงบที่ไม่สอดคล้องกับนโยบาย 
 

ก่อนหน้านั้นประเด็นความขัดแย้งในการจัดหาและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด ต่างถูกจับตามองว่ากลายเป็น “วัคซีนการเมือง” สร้างปัญหาความขัดแข้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องออกมายืนยัน ที่ศูนย์การค้า เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์  เมื่อครั้งที่ไปตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด นอกสถานพยาบาลว่า ได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เข้าใจกันหมด ไม่มีปัญหาความขัดแย้ง 

ฝั่ง “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ย้ำว่ายังไม่ถอดใจที่จะถอนตัวพรรคร่วมรัฐบาล หลังถูกมองโดนริบอำนาจ และชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่นายกฯ ช่วยเเบ่งเบาภาระ ซึ่งเรื่องของการถอนตัวถ้าอยากจะถอนตัวออกจากรัฐบาลก็ถอนเองไม่ได้ ก็ต้องประชุมพรรค หรือถ้าไม่อยากถอน ไม่ยอมไปไหน แต่ถ้าพรรคมีมติว่าจะต้องถอนตัว ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะทุกอย่างก็เป็นไปตามกลไก 

สำหรับเหตุการณ์ที่ถูกมองว่าเป็นปมขัดแย้งกันเริ่มตั้งแต่ การตั้งคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดเพิ่มเติมร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน มีข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข 18 คนร่วมเป็นกรรมการ แต่ไม่ปรากฏชื่อของนายอนุทิน 

หลังครม.เห็นชอบการโอนอำนาจใน 31 กฎหมายฉบับให้พล.อ.ประยุทธ์ ดูแล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกฎหมายในอำนาจของนายอนุทินในฐานะรมว.สาธารณสุข 

“นายศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าการใช้อํานาจพิเศษเป็นสิ่งที่นายกฯ ถนัด 

อภิปรายงบ 65 เดือด "ภูมิใจไทย" รุมขย่มรัฐบาลลุงตู่

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกหลายประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพภายในรัฐบาล โดยเฉพาะท่าทีของนายกฯที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การกำกับดูแลของ นายอนุทิน ไม่ว่าจะเป็น

การแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมี “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ขณะที่นายอนุทินเป็นที่ปรึกษา

การสั่งเบรกแนวทาง Walk-in ฉีดวัคซีน ของนายกฯ โดยอ้างว่าประชาชนจะมาลงทะเบียนเยอะ จนไม่สามารถฉีดได้ทัน และอาจจะทำให้ประชาชนแออัด เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด จึงปรับไปใช้รูปแบบ On-site ลงทะเบียนหน้าศูนย์ฉีด หากไม่ได้ฉีดระบบจะนัดวันฉีดทันที 

การสั่งชะลอการลงทะเบียนหมอพร้อม ปรับรูปแบบการลงทะเบียนฉีดวัคซีน มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ กระจายวัคซีนให้พื้นที่ระบาดหนักมากกว่าพื้นที่ระบาดน้อย

จึงไม่น่าแปลใจที่พรรคภูมิใจไทย จะใช้เวทีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบปี 65 ฟาดงวง ฟาดงา เขย่าเสถียรภาพรัฐบาลลุงตู่ ถึงตอนนี้ก็คงต้องจับตามองว่าคะแนนโหวตร่างพ.ร.บ.งบปี 65 ในวาระแรก ในฝั่งของภูมิใจไทย จะออกมาอย่างไร