"ศ.ดร.กนก"กางแผนวัคซีนรัฐบาล ครบจบในที่เดียว

15 พ.ค. 2564 | 02:40 น.

"ศ. ดร.กนก" กางแผนวัคซีนรัฐบาล แบบครบจบในที่เดียว แจงธ.ค.คนไทยได้ฉีดเข็มที่1 กระตุ้นเข็ม2  มี.ค.65พร้อมเปิดประเทศ 

ศ. ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสื่อสารของภาครัฐบาล ถึงการรณรงค์ให้ประชาชนลงทะเบียน ฉีดวัคซีนว่าในขณะนี้ กำลังเกิดความสับสนในหมู่ประชาชนเพราะแต่ละคนรับข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน เพียงบางด้าน จากนั้นจึงแสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดกว้างและเสรีข้อมูลที่นำเสนอ ไม่มีแม้แต่เรื่องเดียวที่เห็นตรงกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ความสับสนจึงเกิดขึ้น จึงอยากช่วยนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ 

จากการประชุม คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรมของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่13 พฤษภาคม 2564 มีการเชิญนายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล(กรมควบคุมโรค) นายนภัทร ปิสิริกานต์ (องค์การเภสัชกรรม) และนายปราโมทย์ อัครพานนท์ (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เข้าชี้แจงเรื่องวัคซีนผ่านการประชุมออนไลน์ มีเนื้อหาที่จะช่วยลดความสุขให้ประชาชนมีความเข้าใจ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แบบครบจบในที่เดียว เริ่มตั้งแต่การนำวัคซีนมาฉีดในประเทศต้องได้รับการรับรองความปลอดภัยและคุณภาพจากอย. 

ณ วันนี้(14 พ.ค.64) อย.ได้รับรองวัคซีน AstraZeneca, Sinovac, Johnson&Johnson, และ Moderna แล้ว ส่วนวัคซีนตัวอื่นที่จะนำเข้ามาต้องรอผ่านการรับรองของอย.ต่อไป คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเป็นผู้คัดเลือกวัคซีน (ที่กรมควบคุมโรคเสนอ) ที่จะนำมาใช้ในประเทศ

ในขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาวัคซีนที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยและมีการใช้ในประเทศอื่น แล้วจำนวนหนึ่ง องค์การเภสัชกรรมเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและทำสัญญาจัดหาวัคซีน (Supply Agreement) กับบริษัทผู้ผลิต เพื่อใช้เป็นกรอบการสั่งซื้อต่อไป การสั่งซื้อวัคซีนต้องกระทำผ่านหน่วยงานของรัฐ (ในนามรัฐบาล) เท่านั้น เพราะบริษัทผู้ผลิต ต้องเร่งขายวัคซีน เพื่อการใช้ฉุกเฉิน (Emergency Use) และมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ยังไม่ค้นพบ และอาจนำไปสู่การเรียกร้องค่าเสียหายได้(NO Found Compensation) ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนจึงต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสี่ยงนี้ องค์การเภสัชกรรมในนามรัฐบาลไทยเจรจาจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทผู้ผลิตที่มีการกำหนดเรื่องสำคัญ คือ ปริมาณ/จำนวนวัคซีนทั้งหมดที่จะซื้อ,  ปริมาณ/จำนวนและเวลาการส่งมอบเป็นช่วง ๆ,  ราคา, เงื่อนไขอื่น ๆ (ถ้ามี) คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติกำหนดแผนการฉีด เกณฑ์การจัดลำดับก่อนหลังของการฉีด ได้แก่ กลุ่มบุคคลและพื้นที่ หมายความว่า กลุ่มบุคคลและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จะได้รับการฉีดก่อน บุคลากรทางการแพทย์กระจายการฉีดวัคซีนตามแผนการฉีดที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติกำหนด (ปริมาณ, เวลากับกลุ่มบุคคลและพื้นที่ ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายของแผน และปลอดภัยจากการแพร่ระบาด 
 

สำหรับจำนวนวัคซีนที่คาดว่าจะได้รับ ประกอบด้วย 1) Moderna 5 ล้าน, J&J 5 ล้าน, Pfizer 10-20 ล้าน รวม 30 ล้าน ในไตรมาสสี่  2) AstraZeneca 6 ล้าน ในไตรมาส 2 และอีกเดือนละ 10 ล้าน จนถึง ธ.ค.64 รวม 60 ล้าน 3) Sinovac 7 ล้าน ในไตรมาส 4 สรุปจำนวนวัคซีนทั้งหมดที่จะได้รับจนถึง ธ.ค.64 ประมาณ 90-100 ล้านโดส และคนไทยทั้งประเทศมี70 ล้านคน

ดังนั้นปริมาณวัคซีนที่คาดว่าจะมีตามแผนสามารถฉีดคนไทยได้ทุกคน (เข็มที่ 1) ภายใน ธ.ค.64 และคนไทยอีก 50% ได้ฉีดเข็มที่ 2 ภายใน ธ.ค.64 ตามแผนการจัดหาวัคซีนกับ AstraZeneca อีกเดือนละ 10 ล้านเข็ม แสดงว่าภายในเดือน มี.ค.65 คนไทยทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 

"จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้เห็นภาพว่า ภายในธ.ค.64 ภูมิคุ้มกันหมู่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว และชีวิตการทำมาหากินน่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้ คำถามสุดท้ายต่อข้อมูลทั้งหมดนี้คือ รัฐบาลและกลไกรัฐจะสามารถดำเนินการตามเป้าหมาย ของแผนได้หรือไม่ วัคซีนที่จัดฉีดให้ประชาชนนี้มีประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้แค่ไหน โดยเฉพาะกับการกลายพันธุ์ของไวรัส คำถามทั้ง 2 ข้อนี้คือบทพิสูจน์ความสามารถการบริหารของรัฐบาลและ“ดวง”ของรัฐบาลครับ" ศ.ดร.กนก กล่าว