2 สัปดาห์ ‘สยบโควิด’ คลัสเตอร์คลองเตย

05 พ.ค. 2564 | 03:45 น.

“กทม.” ขอ 2 สัปดาห์คุม “คลัสเตอร์คลองเตย” เร่งตรวจหาเชื้อ-ฉีดวัคซีนโควิด 70% จำนวน 5 หมื่นคน ด้าน “นายกฯ” สั่ง ลุยตรวจเชิงรุก 39 ชุมชน เตรียมรพ.รอง รับ “หมอทวีศิลป์” เปิด 3 คลัสเตอร์ต้นตอแพร่เชื้อสู่ชุมชน

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเฉพาะ “ชุมชนคลองเตย” ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นกว่า 8-9 หมื่นคน และมีผู้ติดเชื้อไปแล้วหลายร้อยคน

เพื่อเป็นการยับยั้งไม่ให้ “คลัส เตอร์คลองเตย” เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลุกลามบานปลายไปมากกว่าเดิม ทำให้หลายหน่วยงานเร่งหาทางเข้าไปช่วยเหลือและรับมือสกัดกั้นการแพร่ระบาด 

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่เขตคลองเตย เพื่อตรวจเยี่ยมการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนในชุมชนแออัดเขตคลองเตย ซึ่งเป็นวันแรก ของการจัดรถพระราช ทานให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชน

พล.ต.อ.อัศวิน ระบุว่า ตนขอเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พื้นที่คลองเตย 

ทั้งนี้ จากข้อมูลทะเบียน พบว่าในพื้นที่ชุมชนคลองเตยมีประชาชนอาศัยประมาณ 80,000 คน ลักษณะทั่วไปของชุมชนเป็นชุมชนแออัด มีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ที่พักอาศัยมีทั้งที่เป็นอาคารที่พักหลายชั้น และเป็นบ้านเรือนที่ติดๆ กัน มีการใช้พื้นที่บางส่วนร่วมกัน การระบายอากาศไม่ดี ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว 

สำหรับพื้นที่การฉีดวัคซีนของเขตคลองเตย จัดไว้ทั้งสิ้น 2 จุด จุดละ 500 คน และจะขยายการฉีดวัคซีนให้ได้จุดละ 1,500 คน 

ส่วนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 นั้น ในวันที่ 5 พ.ค. จะเพิ่มจุดตรวจเป็น 4 จุด จากเดิมที่มี 2 จุด และทำ ให้การคัดกรองผู้ป่วยทำได้มากถึงวันละ 4,000 คน

“กทม.เตรียมปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ให้ได้ 70% หรือ 5 หมื่นคน” ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ 

 

เร่งตรวจโควิด 39 ชุมชน

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า กรณีการแพร่ระบาดของโควิดที่เขตคลองเตย ตนได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด โดยมีผู้ติดเชื้อไปแล้วเป็นจำนวนมาก หลายรายอยู่ในชุมชนแออัดที่แพร่ระบาดในครอบครัว และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เมื่อวานนี้ (3 พ.ค. 64) ในช่วงบ่าย ตนจึงได้เรียกประชุมกับทีมแพทย์ ที่ปรึกษา กรุงเทพมหานคร รวมทั้ง ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. อย่างเร่งด่วน เพื่อกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์ดังนี้

 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แก่ชาวชุมชนคลองเตย ณ บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ขณะที่มีชาวคลองเตย เข้ารับการฉีดวัคซีน ที่ลานกิจกรรมโลตัส พระราม 4

 

 

 

1. ให้มีการตรวจเชิงรุกในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน ทั้ง 39 ชุมชน เน้นไปที่ 20 ชุมชนที่เกิดการระบาด โดยเร่งตรวจชุมชนที่มีการติดเชื้อ ให้ได้อย่างน้อย 1,000-1,500 คนต่อวัน โดยหน่วยเคลื่อนที่ และรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน โดยจะตรวจ เชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน ซึ่งได้ดำเนินการทันทีตั้งแต่เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.) แล้ว

2. หากพบผู้ติดเชื้อ ให้มีการแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนตามระดับอาการ เขียว เหลือง แดง เพื่อให้ศูนย์เอราวัณส่งตัวต่อเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลสำหรับกลุ่มนั้นๆ โดยเบื้องต้นจะถูกส่งตัวไปที่ศูนย์แรก|รับ-ส่งต่อ ที่สนามกีฬานิมิบุตร หรือ ศูนย์พักคอยการส่งตัว ที่วัดสะพาน เขตพระโขนง หรือโรงพยาบาลสนาม ที่ จ.สมุทรสาคร

3. กลุ่มสีแดง หรือกลุ่มติดเชื้อและมีอาการหนัก จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลของ กทม.ทันที ซึ่งตนมีความเป็นห่วงผู้ป่วยในกลุ่มนี้มากที่สุด จึงได้เร่งรัดให้มีการเตรียมโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด 

“ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนาม ICU ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง และเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยหนักได้รับการรักษาได้อย่างทันการณ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้”

4. กลุ่มผู้เสี่ยงสูงที่ยังไม่พบว่าติดเชื้อ จะต้องกักตัวในบ้านจนกว่าจะได้รับการแจ้งผล และให้ผู้นำชุมชนช่วยเป็นผู้ประสานงาน ส่งอาหารให้ผู้กักตัว 

 

ฉีดวัคซีนให้ 5 หมื่นคน

5. วันนี้ (4 พ.ค. 64) จะมีการระดมกำลัง 10-20 จุด เพื่อฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด วันละ 1,000-3,000 คน รวมให้ได้อย่างน้อย 50,000 คน ภายใน 2 สัปดาห์ และจะฉีดต่อไปให้ได้ถึง 60% ของประชาชนในชุมชนแออัดคลองเตย หรือประมาณ 80,000 คน

6. นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เพิ่มเติม โดยกรุงเทพมหานคร และกระทรวงกลาโหม ที่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด 

 

2 สัปดาห์ ‘สยบโควิด’ คลัสเตอร์คลองเตย

 

7. ให้มีการดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนในการส่งอุปกรณ์ป้องกันโรค อาหาร ยา และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ให้หน่วยงานที่ต้องลงพื้นที่ 

8. ให้ทุกเขตใน กทม. เตรียมการเชิงรุก โดยใช้รูปแบบ Model คลองเตยนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต

“ทั้งหมดนี้ได้ทำไปแล้ว โดยผมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการขยายวงของการแพร่ระบาด และให้รายงานความคืบหน้ากับผมโดยตรง ซึ่งผมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความจำเป็นในการปรับแผนการควบคุมสถานการณ์หากมีความจำเป็น เป้าหมายคือการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้เล็กที่สุดและควบคุมให้ได้เร็วที่สุด เจ้าหน้าที่ทุกคนกำลังเร่งทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคน” นายกรัฐมนตรี ระบุ 

 

3 คลัสเตอร์แพร่โควิด 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อยู่ในขั้นวิกฤติิ ซึมลึกเข้าสู่ชุมชนแออัด  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เปิดเผยรายละเอียดการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่แขวงสี่แยกมหานาค พบผู้ติดเชื้อ 80 ราย ในชุมชน กระจายหลายพื้นที่ ได้แก่

 

2 สัปดาห์ ‘สยบโควิด’ คลัสเตอร์คลองเตย

 

1. ชุมชนวัดญวน-คลองลำปัก 73 ราย

2. ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา 5 ราย 

3. ชุมชนริมทางรถไฟสายแปดริ้ว 2 ราย 

“ทั้ง 3 ชุมชนนี้เป็นชุมชนแออัดทั้งสิ้น ซึ่งมีกราฟแสดงตัวเลขการติดเชื้อมาตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. มาเจอความชุกพบผู้ติดเชื้อโควิดเยอะขึ้นช่วงหลังสงกรานต์เมื่อวันที่ 21 เม.ย. เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจเชิงรุกในชุมชนจำนวน 447 ราย พบผู้ติดเชื้อ 22 ราย จากนั้นก็มีการพบการติดเชื้อโควิดในชุมชนดังกล่าวต่อเนื่องมา จนกระทั่งวันที่ 29 เม.ย. พบติดเชื้อ 10 ราย และ 30 เม.ย. พบติดเชื้ออีก 7 ราย”

ทั้งนี้ชุมชนวัดญวน-คลองลำปัก เป็นชุมชนที่เจ้าหน้าที่จะต้องเข้มในเรื่องของการเข้าไปตรวจโควิดและจัดการ เนื่องจากมีประชากรอยู่ถึง 856 ราย ซึ่งต้นตอการแพร่เชื้อโควิดในชุมชนแห่งนี้ มี 3 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1. คลัสเตอร์ผับรัชดา 2. คลัสเตอร์ผับแถวพระราม 2 และ 3. คลัสเตอร์แพเมืองกาญจน์ ช่วงสงกรานต์ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,676 หน้า 12 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม 2564