คำต่อคำ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ชำแหละสัญญาลวง อคส.จัดซื้อถุงมือยางมูลค่า 2 พันล้าน

18 ก.พ. 2564 | 08:15 น.

คำต่อคำ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ชำแหละสัญญาลวงจัดซื้อถุงมือยางมูลค่า 2 พันล้าน เผย ตัวละคร โยงคนใกล้ชิด “จุรินทร์" ล้วงเงินออกจาก อคส.

18 กุมภาพันธ์ 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร​เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเป็นวันที่สาม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายจุรินทร์​ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเด็นการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.)

นายประเสริฐ ส.ส.เพื่อไทย เปิดหัวเรื่องนี้ว่า เริ่มจาก นายสุชาติ เดชจักรเสมา ประธานกรรมการอคส. เป็นคนสนิทนายจุรินทร์ และอดีตผู้ช่วยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นคนเปิดปิดประตูรถให้นายบัญญัติ  พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยารัตน์ อดีตรักษาการ ผอ.อคส. นายศรายุทธ์ สายคำมี อดีตผู้สื่อข่าวและคนสนิทประธานอคส. และนายธณรัสย์ หัดศรี กรรมการบริษัท การ์เดียนโกลฟ์ จำกัด ที่เคยมีประวัติคดีฉ้อโกงหลายคดี  โดยคนสนิทประธานอคส. มีหนังสือถึงนายรุ่งโรจน์ วันที่ 25 ส.ค.2563 ระบุว่า มีบ.เคเนตลอว์ออฟฟิศฯ ขอซื้อถุงมือยางจากอคส.เพื่อนำไปส่งให้ประเทศสหรัฐและยุโรป จำนวน 500 ล้านกล่อง ราคากล่องละ230 บาท บาท เป็นเงิน 115,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบนายประเสริฐ บอกว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทเกี่ยวกับกฎหมาย จดทะเบียนอยู่ที่รัฐฟลอลิด้า สหรัฐอเมริกา ไม่เคยมีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจ ขายถุงมือยางแต่อย่างใด ไม่เคยมีที่ทำการในประเทศไทย

หลังจากวันที่ 25 ส.ค. ได้ทำไปแล้ว 3 สัญญา วันที่ 1 ก.ย. ทำอีก 2 สัญญา คือ ทำกับ บริษัท ควีนพาวเวอร์คอมพานี จำกัด 12 ล้านกล่อง ในราคากล่องละ 210 บาท  เป็นเงิน 2520 ล้านบาท และเมื่อดูสถานที่ตั้งของบริษัทฯ พบว่า ตั้งอยู่กทม. เมื่อตรวจสอบ แล้วพบว่า เป็นสำนักงานกฎหมาย และจากการสอบถามสำนักงานกฎหมายก็ไม่มีใครรู้จักกับบริษัทนี้เช่นกัน

วันที่ 1 ก.ย. อคส. ทำสัญญาขายถุงมือยางให้กับ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ คลีนเอ็นเนอร์จี้ ฯ จำนวน 12 ล้านกล่องๆละ 215 บาท เป็นเงิน 2580 ล้านบาท

วันที่ 9 ก.ย. อคส.ได้ทำเพิ่มอีก 2 สัญญา ทำสัญญากับบริษัท เคเคออยส์ จำนวน 50 ล้านกล่อง รวมมูลค่า 11,000 ล้านบาท โดยที่ทำการบริษัทนี้เป็นบ้านพักอาคารไม้สองชั้น ซึ่งเมื่อดูตัวอาคารแล้วการทำสัญญามูลค่าดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เช่นเดียวกับสัญญาที่ 7 ซึ่งทำสัญญากันในวันที่ 9 ก.ย.กับบริษัท แอร์เอแมตทริกส์ จำกัด จำนวน  100 ล้านกล่อง ๆ ละ 210 บาท เป็นเงิน 21,000 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทนี้มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท ทั้งยังเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการทำเทคนิคทางด้านวิศวกรรมที่แทบจะไม่ได้ทำธุรกิจ ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการซื้อขายถุงมือยางมาก่อน ดังนั้น สัญญาที่อคส.ได้ทำทั้ง 7 สัญญานั้นซึ่งมีจำนวนการขายทั้งสิ้น 826 ล้าน ราคาเฉลี่ยกล่อง ๆ ละ 225 บาทมูลค่าสัญญารวม 186,100 ล้านบาท ที่สำคัญ คือ ไม่มีการเรียกหลักประกันจากสัญญาทั้ง 7 ฉบับ

นายประเสริฐ ส.ส.ฝ่ายค้าน กล่าวตั้งข้อสังเกตกับที่ประชุมเกี่ยวกับการทำสัญญา 3 ฉบับแรก คือ บ.สมายด์เทรด บ.แกลลอรี่ฯ และบ.เคลเน็กลอว์ฯ ว่า สัญญาทั้ง 3 ฉบับเป็นสัญญาลวง ไม่มีสัญญาอยู่จริง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างข้อมูลเท็จว่ามีคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมากจาก 3 บริษัท รวม 653 ล้านกล่อง  รวม 149,000 ล้านบาท ซึ่ง อคส.ไมได้เรียกเงินมัดจำใดๆแม้แต่บาทเดียวกันเพื่อเป็นหลักประกันซึ่งเป็นการดำเนินการปกติในเรื่องเกี่ยวกับการค้า หรือมีข้อตกลงถึงวิธีการที่จะนำเงินมาชำระในการเป็นหลักประกันสัญญาทั้งๆที่ทั้งสอง บริษัท คือ บ.แกลลอรี่ฯ และบ.เคลเน็กลอว์ฯเป็นบริษัทในต่างประเทศ แต่อคส.ก็ไม่เคยตรวจสอบวัตถุประสงค์ของทั้งสองบริษัทหรืออย่างใด

ดังนั้น หากไม่ทำสัญญาเพื่อใช้เป็นกลอุบายทุจริตจากอคส. ผู้ทำสัญญา ก็คือ อคส. ต้องเรียกหลักประกันอันเป็นปกติธุระ จึงเป็นสัญญาลวงทุจริตรับเงินจากอคส.เพื่อจะเป็นเหตุรับฟังได้ว่า มีการซื้อขายกันจริงมิใช่สัญญาลวง และสามารถอ้างอย่างถูกต้องชอบธรรมว่า อคส.มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องจัดหาถุงมือยางจำนวนมากไปกับให้ 3 บริษัทเหล่านี้ เนื่องจากมีออเดอร์สินค้าคอยอยู่ และรีบเจรจากับบ.การ์เดียนโกล์ฟฯ อย่างรวดเร็ว 

 

-อ้างรายงานกมธ.การพาณิชย์

นอกจากนี้นายประเสริฐ ยังได้อ้างรายงานของ กมธ.การพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุว่า ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บ.ไทยสมายด์ฯ ในลำดับที่ 1 เป็นผู้ประสานงาน บริษัทที่ 2 และ บริษัทที่ 3 ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตที่น่าเชื่อว่า มีการนำชื่อมาเพื่อเป็นกลอุบายในการทำสัญญาเพียงเท่านั้น

หลังจากทำสัญญาขายถุงมือยางให้กับบริษัทเอกชนรวม 7 สัญญา อคส. ได้เร่งรีบทำสัญญากับ บริษัท การ์เดี้ยนโกล์ฟจำกัด  เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 63 ตามสัญญาเลขที่ อคส.ถม.357/2563 จำนวน 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดในสัญญาที่น่าสงสัย นอกจากจะไม่มีอำนาจในการทำสัญญาดังกล่าวแล้ว ยังไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

“อย่าว่าแต่อำนาจของกระทรวงเลย ต้องทำในนามของรัฐบาลด้วยซ้ำ ผมแปลกใจว่า รมว.พาณิชย์ไปอยู่ที่ไหน เหตุการณ์ปรากฏเป็นข่าวหน้าสื่อตลอด”  

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า มีข้อสังเกตของสัญญาหลายประการ คือ ในสัญญาข้อที่ 6 ระบุว่า ผู้ซื้อ คือ อคส. ต้องชำระเงินค่าสิ่งของล่วงหน้าก่อนจำนวน 2 พันล้านบาทให้กับผู้ขาย คือ บริษัท การ์เดียนฯ ภายใน 3 วัน นับจากวันทำสัญญา

สัญญาข้อที่ 7 หลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา คือ ผู้ขาย (บ.การ์เดียนฯ ) ต้องวางหลักประกันสัญญาเป็นเงินสองร้อยล้านบาทมามอบให้กับผู้ซื้อภายใน  7 วัน เท่ากับ บริษัทการ์เดียนฯ ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย 3 วันเบิกเงินได้ 2 พ้นล้านบาทโดยยังไม่ได้ส่งของเลย ส่งของยังไม่ครบ หลังจากนั้นเอาเงิน 2 พันล้านบาที่ได้เอาไปวางเป็นหลักประกันสัญญา 200 ล้านบาท ยังเหลือเงินทอนอีก 1,800 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบข้อความไม่ตรงกันในสัญญา คือ สัญญาข้อที่ 1 ระบุว่า เป็นการซื้อถุงมือยางไนไตร แต่เมื่อมาดูในสัญญาข้อที่ 10 บอกให้ผู้ขาย (อคส.) ส่งถุงมือยางไนไตรลาเท็กส์ 

นอกจากนี้บริษัทผู้ซื้อถุงมือยางทั้ง 7 บริษัท สั่งซื้อถุงมือยางไนไตรไร้แป้ง เพื่อส่งมอบสินค้าตามที่สั่งซื้อจาก อคส. ไม่ได้สั่งซื้อถุงมือยางลาเท็กส์ หากไม่มีการทำสัญญาลวง อคส.ต้องสั่งบริษัท การ์เดียนฯให้ผลิตถุงมือยางทำถุงมือยางไนไตร ไม่มีแป้ง เพื่ออคส.จะได้ส่งมอบสินค้า ให้กับผู้ซื้อตามสัญญา แต่ข้อพิรุธสัญญาลวง คือ อคส.สั่งซื้อถุงมือยางจากบ.การ์เดี้ยนฯ และให้ส่งมอบเป็นถุงมือยางลาเท็กส์

“ถุงมือยางไนไตร ทำจากยางสังเคราะห์ ผลิตจากกากปิโตรเลียม  ไม่ได้ทำจากยางพารา ถ้าถุงมือยางลาเท็กซ์ จะทำจากยางพารา ไหนว่า ส่งเสริมเกษตรกร นำผลผลิตจากเกษตรกรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และเมื่อตรวจสอบสาระสำคัญของสัญญาซื้อขาย ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทน ที่บอกว่า ผู้ซื้อและผู้ขาย ต่างเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ซึ่งกันและกัน อคส.มีภาระหนี้ที่ต้องส่งถุงมือยางไนไตรชนิดไร้แป้งให้กับผู้ซื้อ ถ้าส่งมอบไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในสัญญา อคส.จะผิดหน้าที่และผิดสัญญาในทันที การที่อคส.ไปทำสัญญาซื้อถุงมือยางไนไตร ไม่ระบุว่า ไม่มีแป้ง และถุงมือยางกับบ.การ์เดียนฯ แล้วอคส.จะมีถุงมือยางไปส่งมอบให้กับผู้สั่งซื้อทั้ง 7 บริษัทได้อย่างไร” 

นี่เป็นเหตุผลที่ผมกล้าพูดได้ว่า การทำสัญญาซื้อถุงมือยางของ ทั้งฝ่ายผู้ซื้อ  คือ อคส. และบ.การ์เดี้ยนฯ เป็นการทำสัญญาลวงเป็นฉากบังหน้า เพื่อทุจริตนำเงิน 2 พันล้านบาทออกจาก อคส. ซึ่งนายสุชาติ ปธ.อคส. บอกให้ทำเป็นการลับเพื่อให้ รมว.พาณิชย์ มากดเดิน

"ถุงมือยางไนไตร ไม่ได้ทำมาจากยางพารา แต่ผลิตจากยางสังเคราะห์ จึงไมได้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างที่กล่าวอ้าง ที่สำคัญ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาซื้อถุงมือยางในนาม อคส.เพราะเป็นการซื้อขายที่มีวงเงินสูงกว่าอำนาจที่ตนเองได้รับ ทั้งนี้ ผอ.อคส.มีอำนาจเพียง 25 ล้านบาท ปธ.บอร์ด 50 ล้านบาท แต่สัญญานี้มูลค่านับแสนล้านบาท คงต้องทำในนามรัฐบาลแล้ว และแปลกใจที่รมว.พาณิชย์จะไม่ทราบเรื่องนี้ได้อย่างไร"

และข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่อคส. เสียเปรียบอย่างยิ่ง เพราะหลังจากทำสัญญาในวันที่ 31 ส.ค. 63 และอคส.สั่งจ่ายเงินให้กับบริษัทการ์เดียนฯในวันที่ 2 ก.ย. เพียงแค่ 3  วันหลังการทำสัญญา สั่งจ่ายเงิน 2,300 ล้านบาท และผู้ขาย คือ บ.การ์เดียนฯได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นหลักประกันสัญญาโดยไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด ทั้งยังส่งสินค้าไม่ครบแต่รับเงินไปก่อนแล้ว 

“ผมเรียกสัญญานี้ว่า สัญญาอัปยศ ไม่มีหน้าโง่ ทำสัญญาแบบนี้ ยกเว้นจะแกล้งโง่เพื่อหวังการทุจริต 2,300 ล้านบาทในองค์การคลังสินค้า”

 

-บ.การ์เดี้ยนฯ จัดตั้งก่อนทำสัญญากับ อคส.เพียง 2 เดือน

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลพิรุธอีกหลายรายการ โดย บ.การ์เดี้ยน ฯ ที่ทำสัญญาขายถุงมือยางให้กับ อคส.เพิ่งจัดตั้งเมื่อวันที่22 มิ.ย. 63 ก่อนทำสัญญาแค่ 2 เดือน มีทุนจดทะเบียนเพียง 2 ล้านบาทแต่สามารถทำธุรกิจ ทำสัญญากับอคส.มูลค่า112,500 ล้านบาทได้ นอกจากนี้  กรรมการ บ.การ์เดี้ยนโกลฟส์ ฯ  ยังเคยต้องคดีอาญามาก่อน รวม 5 คดี เหตุใดจึงไม่เคยมีการตรวจสอบหรือท้วงติงเรื่องนี้แต่อย่างใด  นอกจากนี้การทำสัญญาซื้อถุงมือยางดังกล่าวก็ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบรายละเอียดจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งยังไม่ปรากฏในบันทึกรายงานการประชุมของ อคส. แต่อย่างใด

 

-เปิดข้อพิรุธสัญญาซื้อขายถุงมือยาง 

นายประเสริฐ ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อ 1 สัญญา และสัญญาขายอีก 7 สัญญาว่า มีข้อผิดปกติ ดังนี้ เรื่องแรก คือ  อคส.มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคตาม ม.6 ดังนั้น การจัดซื้อและขายถุงมือยาง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์จึงมิใช่การทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับดังกล่าว ตลอดระยะเวลาทีผ่านมา อคส. ไม่เคยทำธุรกิจซื้อขายถุงมือยางมาก่อน ซึ่งตรงกับข้อสังเกตของ กมธ.พาณิชย์ว่า ถุงมือยางเทียมเป็นสินค้าอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ปรากฏอยู่ในรายงาน กมธ.การพาณิชย์หน้า 24 ในการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา  

เรื่องที่ 2 อคส.ขายของขาดทุนจากการทำสัญาซื้อถุงมือยาง จาก บ.การ์เดี้ยนฯ  500 ล้านกล่อง ๆ ละ 225 บาท แล้วนำมาขายให้กับบริษัทเอกชน 7 บริษัท ในราคาที่ขาดทุน อาทิ บ.เอแอนด์เมททริก จำกัด ขายขาดทุนในราคากล่องละ 210 บาท ทุนมา 225 บาท ขายขาดทุนกล่องละ 15 บาท รวมขาดทุน 1500 ล้านบาท หรือ ต้นทุนของยอดขายของทั้ง 7 บริษัท เฉลี่ยกล่องละ 225  บาท แต่ไปซื้อจากบ.การ์เดียนฯในราคากล่องละ 225 บาท

เรื่องที่ 3 อคส.จัดหาถุงมือยางมาจากไหน มีออเดอร์ทั้งหมด 825 ล้านกล่อง ในขณะที่กำลังผลิตในประเทศปีหนึ่งไม่ถึง 300 ล้านกล่อง ดังนั้น การทำสัญญาซื้อและขายของ อคส. แสดงถึงความโง่เขลาเบาปัญญาของผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องเพื่อหวังเอาเงินจาก 2 พันล้านบาท

พร้อมกันนี้ยังนำหลักฐานที่สำคัญมาแสดงในการอภิปรายครั้งนี้ คือ เอกสารและไฟล์ทบันทึกเสียงการประชุมของ อคส. ครั้งที่ 5 วันที่ 26 ส.ค.63 ซึ่งตัดมาเฉพาะบางส่วน หลังจากทำสัญญาขายถุงมือยางให้กับ บ.เอกชนเพียง 1 วัน ในวันที่ 25 ส.ค. ในวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 26 ส.ค. อคส.ได้จัดประชุม มีการเอกสารจำนวน 34 หน้า โดยนายสุชาติ ปธ.บอร์ดอคส.เป็นประธานการประชุมประชุม ร่วมกับกรรมการอื่นอีก 11 คน  มีพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ รักษาการ ผอ.คลังสินค้า เป็นเลขานุการ มีผู้เข้าร่วมการประชุม25 คน พบพิรุธส่อไปในทางทุจริต ดังนี้

โดยในเทปบันทึกเสียงการประชุม พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ได้รายงานเรื่องการจัดทำสัญญา จำหน่ายถุงมือยางไนไตรชนิดไร้แป้ง เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ต่อที่ประชุม อคส. แทนที่นายสุชาติ คนสนิทของนายจุรินทร์ จะขอให้นำสัญญาซื้อขายถุงมือยางมาให้คกก.อคส.พิจารณา ทั้งๆที่ พ.ต.อ.ได้นำเสนอว่า เป็นผลงานท่านประธาน คือ นายสุชาติ ซึ่งแสร้างตัดบทว่า ต้องรับก่อน 

หลังจากนั้นมีเสียงหัวเราะของคกก.อคส.ทั้งคณะอย่างมีนัยยะที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อประธานกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรับ เหตุใดในที่ประชุมต้องพร้อมหัวเราะกันในทันที เสมือนว่า การขายถุงมือยางเป็นทำวาระพิเศษที่มีนัยสำคัญและสัญญาก็มีมูลค่าสูงเกินกว่าอำนาจ ผอ.อคส. รวมถึงมีข้อท้วงติงจากบอร์ดในการพิจารณาเรืองนี้แต่ปธ.กลับบอกว่า เป็นเรื่องลับรอรมว.พาณิชย์ กดเดิน  

คำพูดของ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ที่ระบุว่า “เป็นผลงานท่านประธาน ผมอยากโชว์ท่านประธาน คือ ถ้างานนี้ไมได้ท่านประธานเพราะท่านประธานเป็นคนบริหารจัดการ และก็กำหนดโครงการนี้ไว้” หลักฐานสำคัญที่นายสุชาติ คนสนิทที่นายจุรินทร์ รมว.พาณิชย์ แต่งตั้งจะอ้างว่า ไม่รู้ ไมได้ แสดงว่า รมว.จุรินทร์ รู้เห็นเป็นใจเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงเป็นเหตุให้นายสุชาติกล่าวว่า ผมจึงเก็บ ให้ รมว.เก็บไว้ก่อนอย่าเพิ่ง เดี๋ยวให้รมว.มากดเดิน

ในรายงานการประชุมของวันที่ 26 ส.ค.กลับไปปรากฏเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในคลิปเสียงดังกล่าว เรื่องนี้ถูกตัดออกจากบันทึกรายงานการประชุมในวันดังกล่าว ในเมื่อ อคส.ได้ทำสัญญาซื้อขายถุงมือยาง 3 สัญญา เมื่อวันที่ 25 ส.ค.เหตุใดในการประชุมวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 26 ส.ค. ไม่มีการนำเรื่องนี้มาหารือในที่ประชุม ทั้งๆที่การลงทุนระดับแสนกว่าล้านต้องมีการวิเคราะห์การลงทุน ผลกำไรขาดทุน สิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อฐานธุรกิจ ฐานการเงินของ อคส. แต่ไม่มีการนำเรื่องนี้มาคุยในบอร์ด อคส.แต่อย่างใด  

ทั้งยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในวาระการปะชุมในวันนั้นซึ่งมี  6 วาระ แต่ในรายงานฉบับที่เป็นทางการที่มีการส่งให้ คกก.อคส. กลับมีเพียง 5 วาระ โดยวาระที่ 6 ถูกตัดออกไป เพราะต้องการไม่ทราบถึงการประชุมในวาระที่ 6 หรือไม่ ทำให้เป็นปัญหาเรื่องความรับผิดชอบ และความรับผิดชอบของนายสุชาติ ปธ.อคส. และ ผอ.อคส.คนใหม่ คือ นายเกรียงศักดิ์ กก.อคส.เพราะทั้งหมดอยู่ในข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการตรวจสอบสัญญาซื้อสัญญาขายของ อคส.หรือไม่  

นอกจากนั้นในรายงานการประชุมของ คกก. พิจารณาการลงทุนของ อคส.เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ส.ค. ซึ่งมีผู้เข้าประชุมร่วม 9 คน โดย พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ นั่งเป็นปธ.พบข้อพิรุธ ส่อไปในทางทุจริต ดังนี้

เรื่องที่ 1 พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ แจ้งที่ประชุมว่า อคส.ได้ขายถุงมือยางไนไตรไร้แป้งเมื่อวันที่ 25 ส.ค. รวม 3 สัญญา รวมเป็นเงิน 149,000 ล้านบาท มีความจำเป็นเร่งด่วนกรณีต้องจ่ายเงินให้กับบริษัท ผู้ผลิต คือ บ.การ์เดี้ยนฯ ในวันพุธที่ 2 ก.ย. จำนวน เงิน 2,000 ล้านบาท ตามข้อมูลของสำนักงาน ผอ.สำนักฝ่ายขาย คือ นายเกียรติขจร แซ่ไตร พบข้อพิรุธ คือ สัญญาซื้อยังไมได้ทำกับบริษัทฯ แต่ อคส. เตรียมขอการอนุมัติการจ่ายเงินแล้ว  ขณะที่สัญญาทำในวันที่ 31 ส.ค.แต่วันที่ 28 ส.ค. อคส.เตรียมจะจ่ายเงินให้บ.การ์เดียนฯ จำนวน 2,000 ล้านบาทแล้ว

เรื่องที่ 2 คกก.พิจารณาเงินไปลงทุน ไม่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ มีเหตุผลว่า การนำเงินไปลงทุนเพื่อซื้อขายถุงมือยางนั้น สามารถสร้างผลกำไรให้มากกว่าธุรการงานปกติที่อคส.ได้ทำอยู่ แม้จะต้องถอนเงินฝากประจำออกจากธนาคาร หรือพันธบัตรที่อคส.ได้ถือครองอยู่ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปจ่ายให้กับบ.การ์เดียนฯ จึงเห็นชอบให้มีการถอนออกก่อนกำหนด เพื่อนำเงินดังกล่าวไปจ่ายให้กับบ.การ์เดี้ยน 2 พันล้านบาท ทั้งๆที่กำลังจะครบสัญญาในอีกไม่กี่เดือน ทั้งเงินฝากประจำและพันธบัตรรัฐบาล

เรื่องที่ 3 รายงานการประชุมวาระที่ 3 เรื่องพิจารณาหน้า 7 ระบุว่า  นายเกียรติขจร สำนักงานขายและจัดจำหน่ายให้แจ้งเรื่องว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนมาก ต้องใช้ทุนหมุนเวียน ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันพุธที่ 2 ก.ย.จำนวน 2 พันล้านบาทเพื่อสั่งซื้อให้ทันมิเช่นนั้น อคส.อาจถูกฟ้องร้องได้

สุดท้าย กก.อคส. รายหนึ่ง คือ นายกิตลักษณ์ ใจดี ให้ความเห็นว่า เงินของ อคส.จำนวนกว่า 3 พันล้านบาทนั้น กำลังจะครบกำหนด เพราะฉะนั้น การนำเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นกำไรสุทธิของปี 2557 และปี 2558 การนำเงินไปทำธุรกรรมอื่น ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.คลังเสียก่อน แต่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ โต้แย้งว่า การสร้างถอนเงินจำนวนดังกล่าวสามารถสร้างผลกำไรให้กับอคส.ได้มากกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารและอคส.ได้ขาดทุนติดต่อกันมา 5 ปีแล้ว จึงเป็นโอกาสที่ อคส.จะสามารถสร้างผลกำไรได้ ในที่สุด คณะกก.พิจารณาเงินไปลงทุนที่มีพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ เป็นประธาน ได้ถอนเงินจากบช.เงินฝากของ อคส. ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน

“การกระทำดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า มีการแบ่งแยกงานกันทำทุจริต นายสุชาติ ปธ.บอร์ด  คนสนิทนายจุรินทร์ และพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ รักษาการ ผอ.อคส.และ นายเกียรติขจร แซ่ไร รู้เห็นเป็นใจมาตั้งแต่ต้น ร่วมกันสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จว่า มีคำสั่งซื้อถุงมือยางจากบริษัทเอกชน จึงจำเป็นต้องไปทำสัญญาซื้อถุงมือยางจากบ.การ์เดี้ยนฯ อกชน เพื่อลวงเงิน 2 พันล้านออกจากอคส. มาตั้งแต่ต้น จากความเสียหายที่เกิดขึ้นนายจุรินทร์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำสัญญาอัปยศ ที่เกิดขึ้นกับอคส.ดังนี้

1.เงินจำนวนล่วงหน้า 2 พันล้านบาท ที่ได้เบิกจ่ายให้กับบ.การ์เดี้ยนฯ เป็นการแกล้งโง่ที่เกิดจากการทำสัญญาล่วงหน้าอย่างเสียเปรียบ ทั้งๆที่อคส.ยังไม่ได้รับสินค้าครบถ้วนแต่อย่างใด

2. อัตราดอกเบี้ยจากบช.เงินฝากของอคส.ที่ต้องได้รับจากการทีเงินฝากกำลังจะครบกำหนดแต่เงินดังกล่าวถูกถอนออกมาเสียก่อน  มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท จากเงินฝากกว่า 3 พันล้าน

พร้อมกันนี้ยังได้โชว์เอกสารรายงานของ กมธ.การพาณิชย์ ส.ส.ได้พิจารณาคดีที่ อคส.ทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางกับเอกชนมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งมีการประชุมในเดือน ต.ค. อย่างน้อย 3 ครั้ง และได้ทำรายงานในเดือนพ.ย.โดย ได้จัดทำรายงานส่งมาให้ทราบมีข้อสังเกตถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง จากบันทึกกมธ.การพาณิชย์ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ดังนี้

บันทึกการรประชุมหน้าที่ 4 พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ชี้แจงว่า การจัดซื้อขายถุงมือยาง เริ่มต้นจากการนโยบาย ปธ.บอร์ดคนปัจจุบัน คนสนิท นายจุรินทร์ ได้มอบนโยบายเมื่อเดือนมิถุนายนว่า  มีนโยบาย 4 ประการที่ต้องดำเนินการ โดย 1 ใน 4 ข้อ คือ การซื้อถุงมือยางทำในลักษณะซื้อมาขายไป หรือ อาจจัดตั้งโรงงานเพื่อทำถุงมือขาย เพื่อต่อยอดการรับซื้อยางดิบจากเกษตรกร นำมาผลิตถุงมือยางอีกทางหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้ด้วย แสดงว่า นายสุชาติ มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด ซึ่งสอดคล้องกับคลิปเสียงได้แสดงให้เห็นแล้ว

บันทึกการประชุมหน้าที่ 5  พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ชี้แจงว่า กรณีถุงมือยางมีบริษัท คลีนเน็กลอว์ออฟฟิศฯ ได้มาทำสัญญาสั่งซื้อ  500 ล้านกล่อง  ราคากล่องละ 230 บาท ราคากล่องละ 230 บาท เป็นเงิน 112,500 ล้านบาท มีบุคคลชื่อเอี่ยว คือ นายสรายุทธ สายคำมี คนสนิท ประธานบอร์ด และเจ้าหน้าที่คือ นายเกียรติขจร ผอ.ฝ่ายขาย เป็นผู้ดำเนินการประสานโดยมีนายสุชาติ มาแจ้งให้ทราบแล้ว ทั้งนี้ ปธ.บอร์ด อคส.ทราบเรื่องดังกล่าวและได้อ้างว่า ได้รายงานให้  รมว.พาณิชย์ ได้ทราบด้วย แสดงว่า นายจุรินทร์ ทราบเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด

บันทึกการประชุมหน้าที่ 6 ปธ.อนุกก.ติดตามตรวจสอบได้สอบถามพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ที่ชี้แจงบอกที่ประชุมว่า ไม่ได้ทำคนเดียว มีผู้ประสานงานและปธ.บอร์ดอคส.ทราบเรื่องดังกล่าว เป็นนโยบายที่มอบให้ดำเนินการ โดยชี้แจงว่า มีบุคคลชื่อ เอี่ยว คนสนิทประธานบอร์ดและเจ้าหน้าที่ดำเนินการประสาน โดยมีประธานบอร์ดรับทราบมาโดยตลอด

บันทึกการประชุมหน้าที่ 8 กมธ.ถามว่า ก่อนทำสัญญา ไปดูบริษัท ดังกล่าวหรือไม่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ตอบว่า การไปดูบริษัท ฯ ปธ.บอร์ดอคส.ได้สั่งให้นายเกียรติขจร ดูแล้วมาแจ้งต่อปธ.บอร์ด ซึ่งไม่มีเอกสารการมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร

นอกจากนี้ คำชี้แจง ของ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ต่อกมธ.เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ยังแสดงให้เห็นว่า รมต.พาณิชย์ ทราบเรื่องการจัดซื้อถุงมือยางมาโดยตลอด โดยนายสุชาติ รับนโยบายมาดำเนินการ และรายงานให้ทราบเป็นระยะ  ทั้งยังมีนายสราวุธ คำมี และนายเกียติขจร มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด อาทิ ทำสัญญาโดยพลการ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ไม่คำนึงถึงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง มีการรีบเร่งเบิกจ่ายเงินให้บ.การ์เดี้ยนฯ อย่างผิดสังเกต ทั้งๆที่มิได้มีการลงนามแต่อย่างใด

ทั้งยังพบว่า บ.การ์เดียนฯได้โอนธุรกรรมทางการเงิน 136 รายการเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบเงินของ ปปง. และมีการโอนธุรกรรมเงินสดอีก 29 รายการ จำนวน 2,000 ล้านบาท ใช้เวลาเพียง 3 วัน เซ็นสัญญาวันที่ 31 ส.ค. จ่ายเงินวันที่ 2 ก.ย. ไม่มีที่ไหนทำกัน

“คดีนี้วงเงินทุจริตสูงถึง 2 พันล้านบาท กระทำโดยคนสนิทนายจุรินทร์ พฤติกรรมอุกอาจ นายจุรินทร์ต้องใช้อำนาจหน้าที่สั่งนายสุชาติรายงานข้อเท็จจริง แต่นายจุรินทร์ไม่ทำ ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทราบเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ไม่ดำเนินการใดๆ กับนายจุรินทร์ นายสุชาติ หรือบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

หากนายกฯไม่ดำเนินการใดๆ ต้องไปแก้ตัวที่ป.ป.ช. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล การกระทำนี้เป็นการวางแผนทุจริตอย่างเป็นระบบ เพื่อนำเงินหลวงมาเป็นของตัวเองและพวกพ้อง

ขณะนี้เงิน 2000 ล้าน ได้อันตธานหายไปจากบัญชีของอคส.เรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นการกระทำการทุจริตอย่างหน้าด้าน ไร้ยางอาย ปล้นชาติ โดยช่วยกันคิด แยกหน้าที่กันทำ แต่ร่วมกันหาผลประโยชน์อย่างไร้ยางอาย จึงไม่อาจไว้วางใจให้นายกฯและนายจุรินทร์ บริหารราชการแผ่นดินต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :