‘ส.ส.-ส.ว.’เสนอ หลากทางออก แก้วิกฤติการเมือง

28 ต.ค. 2563 | 02:30 น.

 

 

นับเป็น “นิมิตหมาย ที่ดี” ที่ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 มี ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อภิปรายแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ที่มีการชุมนุมของกลุ่มประชาชน นิสิตนักศึกษา   

“ฐานเศรษฐกิจ” ขอประมวลข้อเสนอแนะบางส่วนของฝ่ายต่างๆ ที่มีการเสนอแนะในเวทีรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2563 มานำเสนอ ดังนี้ 

 

พท.ชงนายกฯลาออก

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) เสนอแนะว่า การชุมนุมของประชาชนที่มีข้อเสนอนั้น ควรได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การซื้อเวลา พวกท่านมีทัศนคติคับแคบ จึงได้จัดการกับผู้เห็นต่างด้วยการปราบปราม จนถูกคัดค้านจากภายในและนอกประเทศ 

การแก้ไขวิกฤติิจะต้องไม่ใช้กำลังและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง การใช้กำลังสลายการชุมนุมเป็นมาตรการที่เกินเลยจากความเป็นจริง อีกทั้งยังมีการใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน ล้วนแต่สร้างแรงกดดัน จึงอยากสอบถามว่าเป็นการตั้งใจสร้างความไม่พอใจ เพื่อนำไปสู่สภาวะที่ยากต่อการควบคุม และหยิบฉวยสถานการณ์นั้นเพื่อต่อยอดอำนาจ เป็นภาวะที่พวกเราไม่สามารถรับได้

นายสมพงษ์ เสนอแนะว่า 

1. ต้องพิจารณาข้อเสนอของประชาชนและนักศึกษา 

2. เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด ไม่เตะถ่วงเพื่อดึงให้ล่าช้า และพิจารณาต้นเหตุสำคัญของปัญหา  

3. เร่งปลดเงื่อนไขที่เป็นต้นเหตุของวิกฤติิ เร่งปล่อยนักศึกษาที่ถูกจับกุมคุมขัง 

และ 4. เพื่อให้การขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นและถือเป็นการแสดงออกต่อความรับผิดชอบนายกฯ คือ อุปสรรคสำคัญ และเป็นภาระของประเทศ จึงควรลาออก เพื่อให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี  

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เสนอว่า ขอให้นายกฯยืนขึ้นกลางที่ประชุมและประกาศลาออก เพื่อให้มีการเลือกนายกฯ ใหม่และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ซึ่งการลาออกจะเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบ และจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี แต่หากเลือกที่จะยุบสภาเลย จะมีผลตามมา คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินไปต่อไม่ได้ แต่ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป

 

 

 

 

ตั้งคกก.หาทางออก

ด้านความเห็นและข้อเสนอของส.ส.ฝ่ายรัฐบาลนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดเงื่อนไขที่เป็นปมแห่งความขัดแย้ง ต้องช่วยกันชักฟืนออกจากกองไฟ 

พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ควรนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ทันทีที่สามารถทำได้ และไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมจนสังคมเข้าใจว่าเป็นการยื้อเวลา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ทำประชามติหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภา และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติเพิ่มเติมก่อนรับหลักการในวาระที่  1 จนสังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องการยื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

‘ส.ส.-ส.ว.’เสนอ  หลากทางออก แก้วิกฤติการเมือง

 

 

“ขอเสนอให้วิป 3 ฝ่าย ทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา หาคำตอบร่วมกันว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจะพิจารณา 6 ร่างที่บรรจุในวาระไปก่อน หรือรอร่างของไอลอว์ที่ได้ชื่อว่าร่างของประชาชน หากเราพิจารณา 6 ร่างที่บรรจุวาระไปก่อนอาจถูกกล่าวหาได้ว่าต้องการทิ้งร่างของประชาชนหรือไม่ แต่ถ้ารอร่างของไอลอว์บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมก่อน ก็ต้องรออย่างน้อยหลังวันที่ 12 พ.ย. 2563 เพราะต้องรอขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ ซึ่งอาจถูกครหาว่ารอเพื่อซื้อเวลาหรือไม่ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่วิป 3 ฝ่ายควรหาทางร่วมกัน เพื่อทำให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความราบรื่น” 

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ควรมีข้อยุติและมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การหาทางออกของประเทศร่วมกัน อยากเห็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยถือหลัก 3 ข้อคือ 1. องค์ประกอบนั้นต้องมีผู้เกี่ยว ข้องทั้งผู้แทนของรัฐบาล ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฝ่ายที่เห็น ต่างกับผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น 

2. ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ เน้นรูปแบบการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อาจต้องถอยคนละก้าวหรือคนละสองก้าวเพื่อมุ่งหาคำตอบและทางออกให้กับประเทศให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม 

และ 3. ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ซึ่งถ้าหากทำได้ อย่างน้อยที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นแสงสว่างแห่งความหวังถูกจุดขึ้นตรงปลายอุโมงค์โดยรัฐสภา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ กับประบอบประชาธิปไตยของเรา

 

 

 

 

ส.ว.ไม่ให้นายกฯลาออก 

ส่วนข้อเสนอของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น นายสมชาย แสวงการ เสนอแนวทางแก้ปัญหา 9 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้รัฐบาลใช้หลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ใช้ไม้นวมไม้แข็งดูแลความขัดแย้งอย่างเหมาะสม  2. รัฐบาลต้องชี้แจงองค์ระหว่างประเทศเรื่องการแก้ปัญหาให้ดีกว่านี้ 3. ตั้งทีมจัดการข่าว ปลอมเชิงรุกอย่างรวดเร็ว 4. ส.ส. และส.ว.ต้องร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ

5. ให้รัฐบาลเปิดเวทีกลาง เช่น มหาวิทยาลัย สนามกีฬาแห่งชาติ ให้ผู้ชุมนุมได้เสนอความเห็นตามเสรีภาพ แทนการชุมนุมบนถนน 6. การเปิดเวทีเจรจา แม้จะยากแต่ต้องทำ 7. การปฏิรูปสถาบันเป็นข้อเสนอสุดโต่ง 8. นายกฯไม่ควรลาออก เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหา 9. หากการดำเนินการข้อ 1-8 แล้ว ไม่สามารถเป็นทางออกได้ ให้ใช้วิธีออกเสียงประชามติแก้ปัญหา

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ส.ว.เสนอว่า  อภิปรายว่า ทางออกจากวิกฤติครั้งนี้ ต้องหันมาแก้ที่รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ถึงจะมีข้อดี แต่ก็มีจุดด้อยที่ต้องแก้ไข ไม่แปลกถ้าจะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มา ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีส.ว. ส่วนหนึ่งคุยกันแล้วเห็นว่า ควรโหวตรับหลักการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 1 เพื่อตั้งส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้สอดคล้องกับโลกความจริง 

นอกจากนั้น ควรตั้งคณะกรรมการคู่ขนานไปกับส.ส.ร.เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน  นำข้อเสนอดีๆ ไปอยู่ในเนื้อหาการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน หาสมดุลใหม่ เป็นสังคมที่แก้ปัญหาด้วยสันติ

นอกจากนี้ ส.ส.ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ สมาชิกวุฒิสภา หลายคน ได้อภิปรายเสนอแนะทางออกของประเทศ (ดูกราฟิกประกอบ) 

 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,622 หน้า 10 วันที่ 29 - 31 ตุลาคม 2563