iLaw เทียบเคียงหลักสากล รัฐสามารถเลี่ยงใช้ความรุนแรงได้

17 ต.ค. 2563 | 05:08 น.

iLaw เทียบเคียงไทยสลายการชุมนุมกับหลักสากล รัฐสามารถเลี่ยงการใช้ความรุนแรงได้หลายเรื่อง

เพจ-เฟซบุ๊ก โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)   ได้โพสต์ข้อความเรื่อง

"หลักสากล" สำหรับการชุมนุม และการสลายการชุมนุม ความว่า

๐ ICCPR รับรองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ

๐ หลักการพื้นฐาน ของ UN การชุมนุมที่ไม่ก่อความรุนแรง ต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือใช้เท่าที่จำเป็น

๐ แนวปฏิบัติของ UN ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ใช้เพื่อหยุดความรุนแรง ไม่เล็งตัวบุคคล

๐ แนวปฏิบัติของ UN การใช้สารเคมี เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัว การใช้ในพื้นที่ปิดเสี่ยงต่อชีวิต

 

iLaw เทียบเคียงหลักสากล รัฐสามารถเลี่ยงใช้ความรุนแรงได้
 

16 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุม "คณะราษฎร63" นัดหมายกันที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในเวลา 17.00 ต่อมาย้ายไปที่สี่แยกปทุมวัน โดยในช่วงเวลาประมาณ 18.45-19.30 ตำรวจชุดปราบจราจล พร้อมโล่ กระบอง และรถฉีดน้ำ เข้าใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเริ่มจากการกระชับพื้นที่เข้าใกล้ผู้ชุมนุม และประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม โดยให้เวลา "5 นาที" เมื่อผู้ชุมนุมไม่เลิกจึงเกิดการปะทะกันบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม
 

ฝ่ายตำรวจใช้กำลังหลายร้อยนายตั้งแถวหลายชั้นเดินเข้าหาผู้ชุมนุม และใช้รถแรงดันน้ำฉีดไปที่ผู้ชุมนุมหลายครั้ง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแรงดันน้ำและถอยแนวร่นไปทางสี่แยกปทุมวัน โดยยังมีการใช้น้ำสีฟ้าฉีดสลับกัน ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า รู้สึกแสบตาและแสบบริเวณผิวหนัง การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ ถือเป็นการใช้ความรุนแรง ซึ่งตำรวจอ้างเสมอว่าได้ "ทำตามหลักสากล"
 

ชวนดูหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุม และหลักปฏิบัติหากเจ้าหน้าที่จะสลายการชุมนุม ดังนี้
 

1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 21 กำหนดว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
http://www.rlpd.go.th/rlpdnew/images/rlpd_1/pdf/ICCPR_TH.pdf
 

2) หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ที่รับรองโดยสหประชาชาติครั้งที่ 8 ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อจำเลย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2533 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ข้อ 12 กำหนดว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ ซึ่งถ้าหากมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กำลังนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างจำกัด ตามหลักการ ที่ว่า

1. หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น

2. หากเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้
https://www.ohchr.org/…/p…/pages/useofforceandfirearms.aspx….
 

3) หลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) ที่ได้รับการรับรองโดยมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติที่ 34/169 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2522 ข้อ 2 กำหนดว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และในข้อ 3 ได้ระบุว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งและเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
https://www.ohchr.org/…/…/pages/lawenforcementofficials.aspx
 

 

4) แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR ได้กำหนดวิธีการใช้อาวุธแต่ละประเภทไว้ชัดเจน ดังนี้
 

๐ ปืนใหญ่ฉีดน้ำ หรือ Water Canon ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะสลายการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องทรัพย์สินหรือหยุดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้าง “เท่านั้น” โดยวัตถุประสงค์ที่จำเป็นและได้สัดส่วน การตระเตรียมการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะต้องวางแผนการอย่างดี และควรใช้ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัด ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง
.

ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ไม่ควรใช้ยิงใส่บุคคลในระดับสูง ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บระดับสอง (Secondary Injury) ความเสี่ยงอื่นๆ รวมถึง อาการช็อคเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็นในภาวะที่อากาศหนาว และความเสี่ยงจากการลื่นล้ม หรือการถูกฉีดอัดกับกำแพง การใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำนั้นต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้
 

๐ การใช้สารที่ก่อและความระคายเคืองทางเคมี (Chemical Irritants) ต้องใช้จากระยะไกลต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมก่อความรุนแรง มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง การใช้สารดังกล่าวในพื้นที่ปิดอาจทำให้เกิดการเหยียบย่ำกันเองของฝูงชน และก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่ายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม และอากาศเกิดอันตรายต่อชีวิตหากใช้ในพื้นที่ปิดในจำนวนมาก การใช้สารดังกล่าวกับบุคคลที่ใช้ความรุนแรงอาจทำให้บุคคลดังกล่าวขยับเข้ามาใกล้ผู้บังคับใช้กฏหมายมากขึ้นทำให้มีความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากันมากขึ้น การใช้สารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองทางเคมีอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการหายใจ อาการเวียนหัวอาเจียนหรือการระคายเคืองในระบบหายใจ ต่อมน้ำตา ลูกตา อาการกระตุก เจ็บหน้าอก ผิวหนังอักเสบ หรืออาการแพ้ ในจำนวนมากอาจเกิดน้ำท่วมปอด เซลในระบบหายใจและระบบย่อยอาหารตาย และเลือดออกภายใน คนที่ถูกสารเหล่านี้ต้องได้รับการฆ่าเชื่ออย่างเร่งด่วนที่สุด
 

การใช้กระสุนเคมีระคายเคืองต้องไม่ยิงไปหาบุคคล หากโดนหน้าหรือหัวอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวืต และต้องไม่ใช้ในพื้นที่ปิดหรือที่ไม่มีอากาศถ่ายเทพอ ไม่ควรใช้สารเคมีที่ก่อความระคายเคืองที่มีระดับของสารอันตรายสูง
https://www.ohchr.org/Docume…/HRBodies/CCPR/LLW_Guidance.pdf

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"คณะราษฎร" ออกแถลงการณ์นัดชุมนุมวันนี้

ฝ่ายค้านประณามรัฐใช้กำลังสลายการชุมนุม

“ปริญญา”ชี้สลายชุมนุมไม่แก้ปัญหา