ตร.ชี้ “ปักหมุดคณะราษฎร” สนามหลวง มีความผิด

20 ก.ย. 2563 | 03:57 น.

ตำรวจ แจง ปักหมุดคณะราษฎร สนามหลวง มีความผิดทางกฎหมาย โยนให้ "กทม.-กระทรวงศึกษาธิการ" ถก เร่งตรวจสอบกล้องวงจรปิดเอาผิดม็อบ ด้าน "อดีตผู้พิพากษา" ย้ำ บุกรุก สนามหลวง ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานฯ มีโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

20 กันยายน 2563 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานการชุมนุม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดย พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ตำรวจมีการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ตลอดจนมีการรับมอบหนังสือจากทางกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมี พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รับมอบด้วยตัวเองในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ หลังจากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งไม่ใช่ตัวแทนจากสำนักงานองค์คมนตรี ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอไป สำหรับเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวส่วนตัวแล้วยังไม่ได้ตรวจสอบ

 

ด้านพล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า การเปิดการจราจรโดยรอบจะให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด เชื่อว่าจะไม่เกินช่วงเย็นวันนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรที่จะส่งผลกระทบกับประชาชน ส่วนกรณีที่มีการปักหมุดคณะราษฎร จำนวน 2 หมุดที่ท้องสนามหลวงนั้น ตามที่ทราบกันดีว่าสนามหลวงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ที่มีทางกรุงเทพมหานคร(กทม.) และ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานนี้ต้องหารือการดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งทางตำรวจตรวจสอบแล้วเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้จะมีการพิจารณาหากไม่มีความจำเป็น ก็จำเป็นต้องนำหมุดดังกล่าวออกจากพื้นที่

 

ส่วนการชุมนุมครั้งนี้จะมีการเอาผิดกับผู้ชุมนุมหรือไม่อย่างไรนั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการบันทึกภาพหลักฐานชัดเจน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องนำมาพิจารณาจากภาพว่าใครทำอะไรผิดบ้าง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ถือเป็นความผิดต่างกรรม ต่างวาระ ทั้งในเรื่องการชุมนุมไม่แจ้งล่วงหน้า การปักหลักค้างคืนเกินเวลาที่กำหนด

 

ด้าน นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ข้อความว่า สนามหลวงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติใน พ.ศ. 2520 โดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 32 ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทําให้เสียหาย ทําลายทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่ง โบราณสถาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทําต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา 33 ผู้ใดทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่า ทําให้ไร้ประโยชน์หรือทําให้สูญหายซึ่งโบราณวัตถุหรือ ศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

ฉะนั้น การที่กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันบุกรุกเข้าไปชุมนุมในสนามหลวงที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมมีความผิดตามมาตรา 32 วรรคสอง ต้องระวางโทษไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับส่วนการที่ได้มีการทำลายพื้นคอนกรีตและทำการฝังวัตถุที่เป็นโลหะลงไปบนพื้นเป็นการทำให้เสียหายซึ่งโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วย่อมมีความผิดตามมาตรา 33 ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันศาลต้องลงโทษผู้กระทำทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แกนนำม็อบยื่นหนังสือปฏิรูปสถาบัน ประกาศชัยชนะ ยุติชุมนุมแล้ว

"บิ๊กป้อม"ขอบคุณ“ม็อบธรรมศาสตร์” ให้ความร่วมมือจนท.

"ม็อบ19กันยา" ปักหมุดคณะราษฎร ยืนยันสานต่อเจตนารมณ์

สื่อนอกเกาะติดชุมนุม “19-20 กันยา”

สอดรับกับความเห็นของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งโพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ใจความว่า ม็อบผิดกฎหมายฝังหมุดคณะราษฯ 2563 ณ สนามหลวง ทำให้มีความผิดตาม ม.32 พ.ร.บ.โบราณสถานเด่นชัดยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504  มาตรา 32 ระบุว่า ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลายทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่ง โบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

อ่านรายละเอียด พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504