เปิดข้อเท็จจริงใช้ “สนามหลวง” ชุมนุมทางการเมือง

16 ก.ย. 2563 | 19:30 น.

เปิดข้อเท็จจริงใช้ “สนามหลวง” ชุมนุมทางการเมือง ได้หรือไม่

ในวันที่ 19 กันยายน 2563 “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์” หรือ ม็อบเยาวชนปลดแอก นัดชุมนุมใช้พื้นที่ “ท้องสนามหลวง” หรือ สนามหลวง เพื่อแสดงออกทางการเมืองนั้น เมื่อพลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา พบว่า ที่นี่ถูกใช้เป็นที่นัดชุมนุมทางการเมืองของไทยมาแล้วหลายครั้งจนกลายเป็นสัญลักษณ์เชิงการเมือง แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2520 ให้ “ท้องสนามหลวง” เป็น “โบราณสถานสำคัญของชาติ”

 

ประวัติ “ท้องสนามหลวง”

 

ในอดีต “ท้องสนามหลวง”  ถูกเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ  กระทั่งในปี พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศระบุว่า

 

“ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ทุ่งพระเมรุ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ท้องสนามหลวง ”

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ได้ใช้ “สนามหลวง” เป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ

 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้นานาประเทศเห็นว่า  เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ ๆพระบรมมหาราชวัง และไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมือง

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์มีกำแพงแล้วล้อมรอบบริเวณ ข้างในสร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธี สำหรับการพิธีมีพลับพลาที่ทำการพระราชพิธี มีหอดักลมลงที่พลับพลาสำหรับทอดพระเนตรการทำนา ข้างพลับพลามีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่างๆที่สร้างในรัชกาลก่อน เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา และได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปในปี 244 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆใช้เป็นสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ

 

นอกจากนี้ ท้องสนามหลวง ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ , สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 รวมทั้งงานพระเมรุมาศและพระเมรุของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป

 

ล่าสุดถูกใช้เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศเพื่อประกอบพระราชพิธีออกพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

 

ขึ้นทะเบียน "สนามหลวง" เป็นโบราณสถาน

 

สำหรับการขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถาน” ของท้องสนามหลวงนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2520 ก่อนที่กรุงเทพมหานครจะมีการบูรณะสนามหลวงครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2553 โดยสร้างรั้วเหล็กกั้นรอบสนามหลวงเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็ได้มีการออกประกาศกฎระเบียบการใช้สนามหลวงอย่างจริงจังในปีถัดมา

 

อย่างไรก็ดี แม้ “ท้องสนามหลวง” จะขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วแต่การใช้ทำกิจกรรมของประชาชนยังไม่ได้ถูกปิดกั้น ไม่ได้ห้ามผู้คนเข้าไปใช้พื้นที่ กระทั่งในปี2555ได้มี ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการใช้ การบำรุง และการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2555 ออกมา ห้ามมิให้กลุ่มบุคคลใดๆเข้าไปทำกิจกรรมใดๆทั้งสิ้น หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี หรือ ปรับ 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

ขณะที่ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มีบทกำหนดโทษ มาตรา 32 ระบุว่า “ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ศาลรธน.รับวินิจฉัยปม“อานนท์-ไมค์-รุ้ง”ปราศรัยปฏิรูปสถาบัน

"สมชาย" เปิดข้อมูลลับม็อบ 19 ก.ย.เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล เป้าหมายลวง

ฝ่ายความมั่นคงประเมิน 5 หมื่นคนร่วมม็อบ 19 ก.ย.

"บิ๊กป้อม" เปิดข้อมูล มีคนตจว.เคลื่อนร่วมม็อบ 19ก.ย. 

 

“สนามหลวง” พื้นที่เชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง  

 

เมื่อย้อนกลับไป “สนามหลวง” ถูกใช้ในการชุมนุมทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง อาทิ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516 ที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยใช้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และถูกใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535

 

รวมถึงเป็นที่ชุมนุมของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขับไล่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ใช้พื้นที่สนามหลวงในการชุมนุมอยู่หลายครั้ง เช่น ในปี 2552 ใช้เป็นที่ปักหลักของกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล และเมื่อปี 2557 กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ใช้จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สารานุกรมเสรี