เปิดประวัติ "ณรงค์ วงศ์วรรณ" เจ้าของตำนาน (ว่าที่) นายกฯของไทย

11 ก.ย. 2563 | 06:40 น.

เปิดประวัติ "ณรงค์ วงศ์วรรณ" เจ้าของตำนาน (ว่าที่) นายกรัฐมนตรีของไทย

“ณรงค์ วงศ์วรรณ” หรือ “พ่อเลี้ยงณรงค์” อดีตหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในวัย 94 ปี ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อคืนวันที่ 10 กันยายน 2563 สำหรับเส้นทางชีวิตของ ณรงค์ วงศ์วรรณ นั้นไม่ธรรมดา ชื่อนี้เกือบถูกบันทึกไว้ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” คนหนึ่งของไทยแต่มีอันต้องพลาดตำแหน่งนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

 

ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นบุตรชายของ “แสน วงศ์วรรณ” นามสกุลเดิม คือ ผาทอง บุตรชายเจ้าพุทธวงศ์ เคยทำกิจการป่าไม้ร่วมกับ บริษัท อีสต์ เอเชียติ๊ก จำกัด และตั้งโรงเลื่อยเทพวงศ์ อยู่ที่ อ.เด่นชัย ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ เจ้าพุทธวงศ์เป็นญาติห่าง ๆ ของเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้านครที่ปกครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย และเป็นต้นตระกูล “ผาทอง” เจ้าพุทธวงศ์ และนางแก้ววรรณา ผาทอง แห่งบ้านสบสาย ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ มีบุตรชายและหญิง 5 คน คือ สิงห์ ผาทอง, แพร เสียงอินทร์, เพชร เด็ดขาด, แสน วงศ์วรรณ  และจีน ผาทอง

 

ก่อนเข้าสู่ถนนการเมือง พ่อเลี้ยงณรงค์ และ สังวาล วงศ์วรรณ สองพี่น้อง ช่วยกันดูแลกิจการ บริษัท เทพวงศ์ จำกัด ของผู้เป็นพ่อที่ก่อตั้งขึ้นซึ่งครอบคลุมทั้งกิจการทำไม้ และยาสูบ กระทั่งกลายเป็นผู้ส่งออกใบยาสูบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในเวลาต่อมา นายณรงค์ เคยกล่าวไว้ว่า กิจการยาสูบเกี่ยวข้องกับคนภาคเหนือ 1 แสนครัวเรือน กินเนื้อที่จังหวัด แพร่,ลำปาง, เชียงราย, เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นฐานคะแนนทางการเมืองที่สำคัญของพ่อเลี้ยงณรงค์ และกลุ่มนักเลือกตั้งในเครือข่ายตระกูลวงศ์วรรณ

 

ณรงค์ วงศ์วรรณ เข้าสู่ถนนการเมืองครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อปี  2522 สังกัดพรรคกิจสังคม ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นกว่า 90,000 คะแนน นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆในหลายรัฐบาล อาทิ สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้นั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ขยับขึ้น นั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในการปรับ ครม. ปลายปี 2533 นายณรงค์ ได้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ กระทั่งรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย 2 ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ายึดอำนาจในปี 2535

 

หลังมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานร่าง ท่ามกลางเสียวิพากวิจารณ์ว่า เปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจ ให้มีนายกฯ คนนอกได้ อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็มีผลบังคับใช้ และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มี.ค. 2535

 

โดยพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด คือ พรรคสามัคคีธรรม ที่มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ นักการเมืองจากจังหวัดแพร่ ได้ 79 ที่นั่ง  ตามด้วย พรรคชาติไทย 74 ที่นั่ง พรรคความหวังใหม่ ได้ 72 ที่นั่ง  พรรคประชาธิปัตย์ 44 ที่นั่ง พรรคพลังธรรม 41 ที่นั่ง  พรรคกิจสังคม 31 ที่นั่ง  และที่เหลือ คือ พรรคที่ได้ ส.ส.เลขหลักเดียว

 

อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันว่า แม้ นายณรงค์ จะออกหน้านำพรรคแต่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า พรรคสามัคคีธรรมนั้น มี น.ต.ฐิติ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผอ.ทอ.) รองหัวหน้า รสช. ที่เป็นคีย์แมนสำคัญในการรวบรวมนักการเมืองจากหลายพรรคให้มารวมกัน

 

พรรคสามัคคีธรรม ได้ 79 ที่นั่ง พรรคชาติไทย ได้ 74 ที่นั่ง และพรรคกิจสังคม ได้ 31 ที่นั่ง โดยดึงพรรคประชากรไทย 7 ที่นั่ง และพรรคราษฎร 4 ที่นั่ง รวมเป็น 195 ที่นั่ง ต่อมา พรรคสามัคคีธรรม ได้จับมือกับ พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคชาติไทยและพรรคราษฎร รวมเป็น 195 ที่นั่งในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อจะสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. ขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี ขณะที่บางกระแสระบุว่า พล.อ.อ.เกษตร จะเป็นผู้รับตำแหน่งนี้

 

กระทั่งเกิดกระแสต่อต้านโจมตีจากพรรคฝ่ายค้าน ประกอบกับที่การลั่นวาจาว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งของ พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อ.เกษตร ก่อนหน้านั้น ทำให้ทั้งสองปฏิเสธ และสรุปว่า ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

สิ้น “ณรงค์ วงศ์วรรณ” อดีตหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม

 

ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มาการ์เร็ต ทัตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงว่า นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ได้รับการปฏิเสธการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า) จากสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2534

 

เหตุการณ์นี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับนายณรงค์ และส่งผลกระทบกับอนาคตทางการเมืองหนักหน่วงมากที่สุดในเวลาต่อมา แม้ว่านายณรงค์จะประกาศยืนยันต่อหน้าสมาชิกพรรคว่า “จะสู้จนคอหักคาเวที” แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ทนต่อแรงกดดันจากพรรคการเมืองและภาคประชาชนไม่ไหว จึงได้ยอมถอนตัวจากการได้รับการเสนอชื่อเป็น นายกรัฐมนตรี และวางมือทางการเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

 

ข้างต้นเป็นเรื่องราวชีวิตบางช่วงบางตอนของ “ณรงค์ วงศ์วรรณ” ผู้สร้างตำนาน (่ว่าที่) นายกรัฐมนตรีของไทย