เปิดเหตุผลเลื่อนซื้อ "เรือดำน้ำ" จากจีน

31 ส.ค. 2563 | 04:38 น.

"นายกฯ” สั่ง ชะลอจัดซื้อ "เรือดำน้ำ" อีก 1 ปี เหตุต้องการนำงบประมาณช่วยเหลือปากท้อง ปชช. ก่อน ให้กองทัพเรือเจรจากับจีนถึงความจำเป็น 


เมื่อเวลา 09.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า จากกรณีคณะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กำลังพิจารณางบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ของกองทัพเรือ โดยในปี 64 ได้มีการขออนุมัติงบประมาณจำนวน 3,375 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีก 2 ลำ โดยจะมีการชำระเงินเป็นเวลา 7 ปี 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงนั้น มีการเริ่มงบประมาณตั้งแต่ปี 63 ซึ่งกองทัพเรือได้ขออนุมัติไป แต่เนื่องจากเรามีปัญหาในเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือได้เปลี่ยนแปลงคือได้ชะลอการดำเนินการไว้ก่อน พอมางบประมาณปี 64 จึงได้ดำเนินการต่อ ซึ่งมีการเสนองบประมาณเข้ามาที่ กมธ.งบประมาณฯเพื่อขอซื้อเรือดำน้ำในวงเงินเดิมคือ 3,375 ล้านบาท และกองทัพเรือได้ชี้แจงถึงความจำเป็นในการจัดซื้อครั้งนี้ต่อ กมธ.งบประมาณฯ ทั้งนี้ ลำที่ 1 ได้มีการจัดซื้อไปแล้วและจะมีการส่งมอบต่อไป ส่วนลำที่ 2 และ 3 มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามที่ได้มีการดำเนินการไว้ 

 

เปิดเหตุผลเลื่อนซื้อ "เรือดำน้ำ" จากจีน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด่วน! รัฐบาลสั่งกองทัพเรือ เลื่อนแผนซื้อเรือดำน้ำจากจีน
รัฐบาลถอยซื้อ"เรือดำน้ำ" 1 ปี  เตรียมแจงกมธ.งบฯ พรุ่งนี้
“เรือดำน้ำ” ฝ่ายรัฐแพ้โหวต เสียหน้า
“ยุทธพงษ์” โวยยื้อ "เรือดำน้ำ" หวังล็อบบี้ผ่านให้ได้

 

นายอนุชา กล่าวว่า และหลังจากที่ กมธ.งบประมาณฯได้มีการพูดคุยและแสดงความกังวลต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้มีการพูดคุยเป็นการภายใน ในกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะกองทัพเรือ และได้ข้อสรุปว่าขอให้กองทัพเรือพิจารณาชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำในลำที่ 2 และ 3 ออกไปก่อน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความเข้าใจของนายกฯ ที่เห็นถึงความห่วงใยของประชาชน สังคม และ กมธ.งบประมาณฯ ที่จะต้องนำงบประมาณไปใช้ในส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลปากท้องประชาชนและเรื่องอื่นๆ ที่คิดว่าเหมาะสม 

“วันนี้นายกฯ ในฐานะ รมว.กลาโหม ให้ กมธ.งบประมาณฯได้พิจารณาเรื่องนี้อีกที เพื่อให้เกิดความเหมาะสม โดยกระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือ จะเป็นผู้ชี้แจงกับทาง กมธ.งบประมาณฯอีกครั้งหนึ่ง ว่าความเหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร และการเจรจากับทางจีนเพิ่มเติมในการที่จะชะลอหรือเลื่อนการจัดซื้อไปอีก 1 ปี จะมีผลออกมาอย่างไร ซึ่งทางกองทัพเรือจะเป็นผู้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ ซึ่งหลังจากนี้คงจะเป็นการพูดคุยกับทางจีนอีกครั้งหนึ่งถึงความจำเป็นที่เราต้องชะลอการจัดซื้อไปก่อน ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนเข้าใจบทบาทของกองทัพที่ต้องการดูแลประชาชน และทรัพยากรของประเทศไทยให้ดีที่สุด และรัฐบาลจะพยายามดูแลทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เพื่อให้ทั้งหมดมีความสอดคล้อง ประชาชนมีความสบายใจเกี่ยวกับการบริหารราชการของรัฐบาลว่าเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม”

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า อยากให้เข้าใจตรงกันว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น เป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ถูกต้องทั้งหมด โดยมีการดำเนินการมาตั้งแต่การจัดซื้อของลำที่ 1 แล้ว ในส่วนของลำที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องที่จะมีการส่งมอบต่อเนื่องเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จะเห็นว่างบประมาณทั้งหมดที่ตั้งไว้ เป็นการจัดตั้งไว้สำหรับซื้อเรือดำน้ำทั้งหมด 3 ลำ อยู่ที่ 36,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของลำที่ 2 และ 3 อยู่ที่ 22,500 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 63 เดิมมีงบประมาณที่จะเตรียมจัดสรร 3,375 ล้านบาท แต่ว่าเลื่อนมาเป็นงบประมาณปี 64 ดังนั้น ปีนี้ก็เป็นอีกครั้งที่จะต้องเลื่อนไปเป็นครั้งที่ 2 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ชะลอซื้อเรือดำน้ำ เพราะทางการจีนส่งสัญญาณมาทางไทยแล้วใช่หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ต้องให้กระทรวงกลาโหมโดยกองทัพเรือพูดคุยกับทางการจีนอีกครั้งหนึ่ง และมาชี้แจง ซึ่งทราบว่าบ่ายวันเดียวกันนี้ (31 ส.ค.) จะมีการประชุมสภากลาโหม อาจจะมีการสอบถามเพิ่มเติมว่ามีการเจรจาอย่างไร หรือไม่ แต่ทั้งนี้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระบวนการของ กมธ.งบประมาณฯ ว่าหลังจากที่มีการชี้แจงและพูดคุยแล้ว จะมีความเห็นเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของนายกฯ เห็นถึงความสำคัญที่ประชาชนห่วงใยและกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้น หากชะลอไปได้อีก 1 ปี คิดว่าอย่างน้อยก็สามารถนำเงิน 3 พันกว่าล้านไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้พอสมควร และคงต้องให้กองทัพเรือ พิจารณาในการดำเนินการอย่างอื่นที่จะไม่มีปัญหาทางด้านความมั่นคงต่อไปด้วย 

เมื่อถามว่า ที่ชะลอเพราะต้องการลดกระแสการคัดค้านในขณะนี้ใช่หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า การทำงานของนายกฯ รับฟังความเห็นของประชาชนที่เรียกร้องหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ และสังคมต่างๆ หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่ารัฐบาลมีกลไกต่างๆ ที่จะดำเนินการได้ จะมีการประสานงานกันกับทางสภาฯ เพื่อให้งานมีความสอดคล้องและกลไกทั้งหมดเดินหน้าต่อไปได้