แก้รธน. 2 ปีเสร็จ พรรคร่วมรัฐบาลยื่นญัตติ 26 ส.ค.นี้

23 ส.ค. 2563 | 02:00 น.

วิปรัฐบาลเตรียมนำร่างแก้ไขรธน.ของแต่ละพรรคร่วมรวมให้เป็นร่างเดียว 24 ส.ค.นี้ ก่อนส่งประธานรัฐสภา 26 ส.ค. เผยขั้นตอนการแก้ไขอาจใช้เวลาร่วม 2 ปี

 

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชา- ธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณายื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา ว่า วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคมนี้ แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลจะนำร่างแก้ไขของแต่ละพรรค ทั้งพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ มาหารือร่วมกัน ก่อนจะนำเนื้อหาของแต่ละพรรคมารวมกันให้เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคร่วมรัฐบาลฉบับเดียว โดยจะเร่งส่งญัตติถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้ทันภายใน 26 สิงหาคมนี้นายชินวรณ์ กล่าวว่า ประเด็นหลักที่จะแก้ไขคือ แก้ไขมาตรา 256 และให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยต้องไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2

 

นอกจากนั้น ประเด็นที่จะให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ยินดีสนับสนุน โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 

 

ดัน“นศ.”เป็นส.ส.ร.

 

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคได้จัดทำร่างฯ ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 256 และในหมวดการตั้ง ส.ส.ร.เสร็จแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดย ตรงจากประชาชน ได้ยกร่างโดยเปิดทางให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา สามารถเป็น ส.ส.ร.ด้วย เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 

 

โดยไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 และที่สำคัญที่สุดคือการทบทวนบทเฉพาะกาลทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่า การตั้ง ส.ส.ร. ที่มีเยาวชน นิสิต นักศึกษา และทุกภาคส่วนร่วมอยู่ด้วยนี้ เป็นเรื่องที่ดีที่จะได้สะท้อนทุกมุมมองเรื่องที่สำคัญต่างๆ ไปพูดคุยกัน

 

คาดแก้รธน.ใช้เวลา 2 ปี

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระบวนการและขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจใช้เวลาประมาณ 2 ปี เหตุเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เขียนบทบัญญัติที่ทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือการร่างใหม่ตามระบบรัฐสภาทำได้ “ยากมาก” ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ไม่มีทางเป็นไปได้

 

ด้วยเหตุเพราะบทบัญญัติมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ให้แก้ยากเย็นแสนเข็ญโดยเฉพาะการต้องใช้เสียง ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้ไข อย่างน้อย 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 84 คน

 

ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้ชุมนุม และพรรคการเมือง คือการแก้ไขที่มาและอำนาจของ ส.ว. ถือเป็นประเด็นที่ยากต่อการทำให้ ส.ว. 84 คน ยกมือให้ผ่านการแก้ไข

 

ขณะเดียวกันหากสามารถแก้มาตรา 256 ได้ เมื่อผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ที่ต้องได้เสียง ส.ว. เกิน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงแล้ว ยังจะต้องนำร่างแก้ไขนั้นไปทำประชามติจากประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งแค่กระบวนการแก้ไขมาตรา 256 อย่างเดียว ก็ใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนแล้ว 

 

ถ้าหากมีการเสนอตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เพราะจะต้องใช้เวลาในกระบวนการได้มาของ ส.ส.ร. ไม่น้อยกว่า 3 เดือน จากนั้นต้องให้เวลา ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญราว 1 ปี และต้องทำประชามติใหม่อีกรอบประมาณ 3-4 เดือน ถ้าเป็นไปตามกรอบเวลานี้ต้องใช้เวลาราว 2 ปี ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

 

 

แก้รธน.เสร็จยุบสภา 

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการแสดงจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วควรยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ว่า เป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมาตลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะหากมีรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์แล้วควรต้องรีบใช้ให้เร็วที่สุด ทุกอย่างเป็นไปตามการเมืองระบอบประชาธิปไตย 

 

“ยืนยันไม่มีความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะพรรคร่วมรัฐบาล วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน มีแนวทางเดียวกัน เรื่องการแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน”

 

นายอนุทิน ยํ้าว่า เรื่องนี้ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว. และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว ถือเป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมืองที่มีแนวคิดและจุดยืนของพรรค ซึ่งไม่ ใช่แนวคิดของรัฐบาล มันคนละเรื่องกัน” 

 

 

แก้รธน. 2 ปีเสร็จ พรรคร่วมรัฐบาลยื่นญัตติ 26 ส.ค.นี้

 

 

"ปิยบุตร"ยันปิดสวิตช์ส.ว. 

 

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขา ธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงข้อเสนอ การตั้งส.ส.ร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ว่า ควรทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกันกับรัฐธรรมนูญฉบับที่จะยกร่างใหม่ โดยมีฉันทามติร่วมกัน และหลังจากที่ประชุมรัฐสภารับหลักการและตั้งกรรมาธิการแล้ว ควรยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 269-272 เพื่อยกเลิก ส.ว. ชุดปัจจุบัน

 

“ถ้าส.ว.คัดค้านเพื่อปกป้องตัวเอง เชื่อว่าคงดูไม่จืด เพราะส.ว.ต้องตระหนักว่าเป็นจุดด่างดำของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และหากส.ว. ต้องการกลับเข้าทำหน้าที่ ควรเข้าสู่กระบวนการปกติ” 

 

 

 

นายปิยบุตรกล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรห้ามส.ส.ร.แก้ไขหมวด 1 หรือหมวด 2 เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐได้ และหากห้าม ส.ส.ร. แก้ไขหมวด 1 หรือหมวด 2 อาจจะเกิดวิกฤติิรัฐธรรมนูญ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 

รัฐบาลไม่เบี้ยวแก้รธน. 

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลสามารถเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญแยกเป็นรายพรรคได้หรือไม่ ว่า เข้าใจว่ายังไม่น่าจะถึงจุดนั้น เพราะเวลานี้แต่ละพรรคได้เตรียมแนวทางการแก้ของแต่ละพรรคไปก่อนเท่านั้น

 

ส่วนที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาฯ หากไม่แก้ไข จะถือว่าเป็นการเบี้ยวหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะถ้ารัฐบาลเสนอว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าโอเคแล้ว 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,603 หน้า 12 วันที่ 23 - 26 สิงหาคม 2563