พลิกปูม “ปรีดี ดาวฉาย-ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ว่าที่ "รมว.คลัง-พลังงาน"

16 ก.ค. 2563 | 02:33 น.

พลิกปูม "ปรีดี ดาวฉาย" และ "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" สองขุนพลเศรษฐกิจ ว่าที่ "รมว.คลัง-พลังงาน" หลัง "สมคิด" พร้อมด้วย "กลุ่ม 4 กุมาร" ลาออก เปิดทาง "บิ๊กตู่" ปรับ ครม.

จากกรณี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย “กลุ่ม 4 กุมาร” ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันนี้(16 ก.ค.63) เพื่อเปิดทางให้พล.อ.ประยุทธ์ ปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) หาบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน

 

มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ได้ทาบทาม นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการการกระทรวงการคลัง หรือตำแหน่งสำคัญในทีมเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯดึง"ปรีดี ดาวฉาย"นั่งรมว.คลัง “ไพรินทร์”คุมพลังาน

ด่วน สมคิด- 4 กุมาร ลาออกจากรัฐมนตรี เปิดทางปรับครม.

4 กุมารเข้าทำเนียบยื่นใบลาออก

ต่อไป "คณะรัฐมนตรี คณะที่63" หากมี "ปรับครม."

ตำแหน่งด้านเศรษฐกิจ อีกตำแหน่งคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีรายงานว่า ได้มีการทาบทาม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อดีตกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย ร่ำเรียนมาทางด้านกฎหมาย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ2 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ระดับปริญญาโทด้านกฎหมายเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ฯ สหรัฐอเมริกา จากนั้นได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรที่เกี่ยวกับการบริหารองค์กรภาคธุรกิจมากมาย

ปรีดี ดาวฉาย

ประวัติการทำงาน เริ่มงานที่สำนักกฎหมาย ธนาคารกสิกรไทย เมื่อปี 2525 และเติบโตมาตลอด โดยเฉพาะในงานด้านสินเชื่อ และการปรับโครงสร้างหนี้

ในปี 2544 ขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ปี 2547 เป็นรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และปี 2556 ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

นอกจากนั้น ยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการอีอีซี และ กรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

สำหรับการเป็นคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการดำรงตำแหน่งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เช่นเดียวกับตำแหน่งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ก็เป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 71/2557 จึงถือว่าเคยทำงานร่วมกับรัฐบาล คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาก่อนแล้ว

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, ระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโทและเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจบการศึกษาก็ได้ไปเป็นอาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเข้าทำงานที่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด ภายหลังลาออกจาก ธนาคารกรุงเทพ

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

นายไพรินทร์ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกโพลีเอททีลิน จำกัด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง และบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จนเกษียณจากการทำงาน

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ-กรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี ประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งไม่กี่วันถัดมา นายไพรินทร์ ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท เนื่องจากตนเองเพิ่งพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี จึงถือว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการรักษาธรรมาภิบาลของบริษัท

ที่มา :  วิกิพีเดีย