แตกพรรค เตรียมเลือกตั้ง สัญญาณที่น่าจับตา

27 มิ.ย. 2563 | 03:00 น.

ความสำเร็จจากการหยุดยั้งการระบาดของเชื้อโควิด-19 น่าจะเป็นบทพิสูจน์ภาวะผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สะท้อนจากผลสำรวจโพลล์จากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง และเสียงชื่นชมจากอารยประเทศ 

 

แต่น่าเสียหายที่เกิดปัญหาช่วงชิงอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพียงอ้างความแข็งแกร่งภายในพรรค กดดันให้ “บิ๊กตู่” ต้องจัดองคาพยพของฝ่ายบริหารใหม่ ทั้งที่ “บิ๊กตู่” อาจไม่พร้อมที่จะปรับ ครม.ในระหว่างที่ประเทศกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างลงตัว 

 

จับตาอนาคต “4 กุมาร”

 

แม้จะมีแรงเขย่าจากกลุ่มอำนาจใหม่ในพลังประชารัฐ แต่ถ้าสังเกตจากท่าที นายกฯ จะเห็นว่าหลายครั้ง นายกฯ ปฏิเสธที่จะตอบเรื่องการปรับ ครม.ในช่วงนี้ เพราะต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ผ่านไปก่อน รวมทั้งไม่ต้อง การ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” 

 

กระทั่งล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ออกมายืนยันว่า “ไม่มีเอกสาร 4 กุมารยื่นลาออก” แต่เมื่อจับสัญญาณจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ “เวลาเปลี่ยนไป รัฐมนตรีก็ต้องเปลี่ยนไป”

 

วลีเด็ดจากปากรองนายกฯด้านเศรษฐกิจดังกล่าว หลายคนพุ่งไปที่กลุ่ม “4 กุมาร” ประกอบด้วย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดม ศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของ “สมคิด” ที่วันนี้ถูกกลุ่มอำนาจใหม่ในพรรคปั่นกระแส หมดเวลาบนเก้าอี้รัฐมนตรีแล้ว

 

ขณะที่ท่าทีจาก “4 กุมาร” เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อ นายสุวิทย์ ยอมรับว่า เป็นไปได้ว่าจะตัด สินใจลาออกจากตำแหน่ง พร้อมกันทั้ง 3 คน คือ ไปแบบมีศักดิ์ศรี มาด้วยกันก็ไปด้วยกัน  

 

เมื่อ “4 กุมาร” ลาออก เป็นไปได้สูงที่ “สมคิด” จะออกตาม ถึงวันนั้น อาจได้เห็นกลุ่มการเมืองใหม่ เกิดขึ้นอีกครั้ง  

 

“หมอวรงค์” ตั้งกลุ่มใหม่

ในขณะที่ศึกในพลังประชารัฐกำลังคุกรุ่น ศึกในพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โหมขึ้นมาเช่นกัน เมื่ออยู่ๆ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค รปช. โดย “หม่อมเต่า” อ้างว่าเดินคนละทางกับคนคอนโทรลพรรค ประกอบกับมีกระแสข่าวเตรียมปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงใช้ โอกาสนี้ลาออกจากพรรค ซึ่งทางแกนนำพรรคเตรียม นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีในโควต้า พรรค รปช.แล้ว 

 

แตกพรรค เตรียมเลือกตั้ง สัญญาณที่น่าจับตา

 

ประเด็นร้อนจาก “หม่อมเต่า” ยังไม่จางหาย คราวนี้ถึงคิว นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้ประกาศลาออกจากพรรค รปช.อีกคน แต่กรณีของ “หมอวรงค์” เป็นการจากกันไปด้วยดี ด้วยเหตุผลต้องการการทำงานในเชิงวิชาการ คือการหาข้อมูล ข้อเท็จจริงมายืนยันหักล้างข้อมูลที่บิดเบือนของกลุ่มการเมือง ที่ใช้ข้อมูลเท็จบิดเบือน ตลอดจนแสวงหาทาง ออกที่ดีให้แก่ชาติบ้านเมือง ถ้าสังกัดพรรคการเมืองอาจจะมีข้อจำกัดในการหาแนวร่วมและไม่คล่องตัว 

 

ล่าสุด หมอวรงค์ ประกาศเตรียมแถลงเปิดตัวกลุ่มการเมือง เดินหน้า ทำงานตามอุดมการณ์ที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จต่อไป 

 

 

“กรณ์”ปั้นพรรคกล้า

 

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นอีกพรรคการเมืองที่ยังป่วนไม่เลิก เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ปรากฏมีคลื่นใต้นํ้าจากส.ส.อย่างต่อเนื่อง โดยอ้างความไม่พอใจการบริหารของคณะผู้บริหารพรรค ทำให้แกนนำพรรคทยอยออกไปทีละคนสองคน เริ่มตั้งแต่การลาออกของ กรณ์ จาติกวณิช อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และต่อมา พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ลาออกเพื่อไปช่วยงานรัฐบาล

 

เหตุผลสำคัญที่ “กรณ์” ลาออกจากพรรคที่เคยสังกัดในพรรคประชาธิปัตย์นาน 15 ปี เขาระบุว่าต้องการเดินหน้าสร้างทางเลือกทาง การเมือง เป็นการเมืองที่ต้องกล้าคิด กล้าทำ เป็นต้นกล้าของความคิดใหม่ๆ มีเป้าหมายสำคัญคือ “การทำให้คนไทยมีความหวังในอนาคตที่ดีขึ้น”

 

ต่อมา พรรคกล้า เปิดโฉมหน้าผู้บริหารพรรค 9 คน คือ 1. นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค 2. นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค 3. นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัว หน้าพรรค 4. นายภิมุข สิมะโรจน์ รองหัวหน้าพรรค 5. นายพงษ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรค 6. นายณัฐนันทน์ กัลยาศิริ นายทะเบียนพรรค 7. ดร.เอราวัณ ทับพลี เหรัญญิกพรรค 8. นายเบญจรงค์ ธารณา กรรมการบริหาร และ 9. นายมนต์ชีพ ศิวะสินางกูร

 

 

“ภูมิธรรม”ดันกลุ่มแคร์ 

 

ปัญหาการบริหารจัดการในพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้แกนนำพรรคหลายคนทยอยโบกมือลาไปไม่น้อย ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา  “4 ขุนพลข้างกายทักษิณ” อย่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้ผนึกกำลังเปิดตัวกลุ่มการเมืองใหม่ ใช้ชื่อว่า “คณะผู้ห่วงใยประเทศ” หรือ “กลุ่มแคร์” 

 

นอกจากนั้น สมาชิกกลุ่มแคร์ ยังมี น.ส.ลักขณา ปันวิชัย (แขก คำผกา) นักเขียนและพิธีกรรายการโทรทัศน์, น.ส.วีรพร นิติประภา (แหม่ม) นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์, นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก, นายพริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล ลูกชายนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล (เฮียเพ้ง)

 

ภูมิธรรม ให้ความหมายของ “กลุ่มแคร์” ว่าปักหมุดขับเคลื่อนวาระสังคมโดยการเมืองภาคประชาชน civic movement และยังมีดำริ
ความคิดและเชื่อมั่นประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม คิด ทำ เป็น พื้นฐานประชาธิปไตย

 

“3 เกลอ”ตั้งคณะก้าวหน้า 

 

หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรค และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรค เกาะกลุ่มตั้ง “คณะก้าวหน้า” แต่แนว คิดยังเดินหน้าเพื่อสานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ที่เปลี่ยนไปชื่อ “พรรคก้าวไกล”

 

“เรากำลังอยู่ในบทพิสูจน์อีกครั้ง ว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร เราแพ้แล้วใช่หรือไม่ เมื่อถูกยุบพรรคแล้วการฟื้นตัวกลับมาคงเป็นไปไม่ได้แล้วใช่หรือไม่ นี่เป็นอีกครั้งที่พวกเราชาวอนาคตใหม่ตกอยู่ในสถานการณ์ ที่จะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เราจะพิสูจน์ให้ได้ว่าแม้เราจะถูกทำลาย แต่พวกเราจะฟื้นคืนชีพกลับมาได้ดังนกฟินิกซ์ ในชื่อของคณะก้าวหน้า”

 

เป็นเสียงจากนายปิยบุตรที่ประกาศกร้าว พร้อมเดินหน้าเข้าไปสถาปนาอำนาจนำแบบใหม่พร้อมข้อเสนอเดิมๆ คือ ให้นายกฯลาออก แล้ว ให้สภาผู้แทนราษฏรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ยุบสภาเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่

 

จับตาหลังจากนี้ ยังมีนักการเมือง ที่จ่อลาออกจากพรรคการเมือง รอจังหวะก้าว แต่งตัวรอเสียงระฆังดังขึ้นเมื่อไร เมื่อนั้นได้เห็นคนการเมืองขยับแข้งขยับขา ตีปีกพรึบพรับ รับเทศกาลเลือกตั้งอีกครั้ง!! 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,587 หน้า 12 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2563