‘ดร.มานะ’ชงสารพัด ข้อเสนอป้องกัน โกงงบ 4 แสนล้าน

24 มิ.ย. 2563 | 04:15 น.

หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่าการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผล  กระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

 

โดยเฉพาะงบการการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท  เพราะจากมูลที่มีหน่วยงานทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การมหาชน ได้ทำข้อเสนอโครงการให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณา 34,263 โครงการ วงเงินสูงถึง 841,269 ล้านบาท

 

แม้รัฐบาลจะมีแนวทางการขับเคลื่อนงานตามกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ก็ยังไม่ทำให้ภาคสังคมวางใจได้

 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จึงได้ตั้งคำถามว่า “รัฐบาลทำดีพอแล้วหรือยัง?”

 

วางแนวทางได้ครอบคลุมดีสำหรับมติ ครม. เรื่องป้องกันคอร์รัปชันเงินสี่แสนล้าน แต่ประสบการณ์สอนว่า

 

หลายครั้งเมื่อ “รัฐบาลมี นโยบายหรือประกาศความตั้งใจ แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ไม่มีใครใส่ใจ” หากไม่ติดตาม ไม่ทำเป็นแบบอย่าง หรือไม่กำหนดข้อปฏิบัติให้ชัดลงไปว่า ใครต้องทำอะไร อย่างไร

 

ดังนั้น เพื่อควบคุมให้การใช้เงินครั้งนี้โปร่งใส ผมรวบรวมข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาเพิ่มเติมสำหรับ 4 แนวทางที่รัฐบาลประกาศมา 

 

ประการแรก “การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส” หัวใจคือ ทำทุกอย่างให้โปร่งใส

 

1) สร้าง “เว็บไซต์เฉพาะกิจ” ที่เปิดให้ชาวบ้านมีส่วนรู้เห็นว่า ในตำบลของตนมีโครงการอะไรบ้าง เป็นเงินเท่าไหร่ มีการจ้างงานที่ไหน บ่อเก็บนํ้าที่ขุดหรือศาลาที่สร้างตั้งอยู่ในที่ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ มีอะไรซํ้าซ้อนไหม โครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาการเกษตรมีอะไรบ้าง เป็นต้น

 

‘ดร.มานะ’ชงสารพัด ข้อเสนอป้องกัน โกงงบ 4 แสนล้าน

 

ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ให้ทุกคนใช้โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์เปิดดูข้อมูลในเว็บไซต์ได้อย่างเสรี ไม่ต้องมีรหัสผ่านหรือกรอกข้อมูลบัตรประชาชน โดยในเว็ปไซต์ต้องมีช่องทางร้องเรียนไว้ด้วย

 

มีข้อสังเกตว่า ในมติ ครม. ใช้คำว่าให้ทุกหน่วยงาน “เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด” ดังนั้น จึงไม่ควรมีการปกปิดข้อมูลใดโดยอ้างเหตุผลเดิมๆ เช่น ความลับทางการ ค้า ความลับราชการ สิทธิส่วนบุคคล หรือมีระเบียบให้เปิดได้แค่นี้ เป็นต้น

 

ในทางกลับกันคือ ประชาชนสามารถขอดูเอกสารทุกอย่างได้ เมื่อทำไว้ดีแล้ว ใครจะตรวจสอบอะไรก็ง่ายได้ ตรวจสอบย้อนหลังได้

 

2) จัดรณรงค์สร้างการรับรู้และเชิญชวนประชาชนให้มีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบ โดยอาจรวมตัวเป็นเครือข่ายลักษณะเดียวกับ อสม. ก็จะเป็นประโยชน์มาก ทำให้ต่อเนื่องจะกระตุ้นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อโครงการฟื้นฟูประเทศครั้งสำคัญนี้

 

3) มีตัวแทนประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ เพื่อความมั่นใจว่าการใช้เงินตรงมาตรงมาตามวัตถุประสงค์ ไม่มีใครเกรงใจใคร

 

4) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้เงินที่เป็นอิสระ ที่มีตัวแทนประชาชนร่วมเป็นกรรมการ โดยทำงานภายใต้การสนับสนุนของ สตง.

 

 

ประการที่สอง “ตรวจสอบเข้มงวด ลงโทษรุนแรง”

 

1) โครงการที่อนุมัติแล้ว ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองโดยบุคคลภายนอกที่มีความรู้ ประสบ การณ์ เพื่อคัดแยกและตั้งประเด็นว่าโครงการใดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดคอร์รัปชัน ในขั้นตอนใด

 

2) หน่วยตรวจสอบ ป.ป.ช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ป.ป.ท. ควรกำหนดมาตรการเชิงรุก นอกเหนือไปจากมาตรการปรกติที่มีอยู่ หรือที่ ศอตช.กำหนด

 

3) จ้างบัณฑิตจบใหม่หรือคนตกงานให้ทำหน้าที่ “ติดตามตรวจสอบ” โครงการในแต่ละตำบล

 

4) หากมีการยกเว้น ผ่อนผันกฎระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ ต้องกำหนดขอบเขต ขั้นตอน ให้ชัดเจน

 

‘ดร.มานะ’ชงสารพัด ข้อเสนอป้องกัน โกงงบ 4 แสนล้าน

 

ประการที่สาม “การปฏิบัติเมื่อมีการร้องเรียน”

ทุกเบาะแสและข้อร้องเรียนต้องตอบสนองอย่างน้อยสองทางพร้อมกัน ทางหนึ่งให้ สตง. ตรวจสอบเพื่อความรวดเร็วและหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้น อีกทางหนึ่ง ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. เข้าตรวจสอบดำเนินคดี สำหรับ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ควรเน้นตรวจสอบประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเรื่องร้องเรียนคดีใหญ่ ซับซ้อน หรือมีข่าวการแทรกแซง

 

 

การใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทนี้ต้องเร็วและกระจายทั่วถึง การที่รัฐบาลกำหนดให้ ศอตช. เป็นหน่วยประสานงานและข้อมูลเรื่องร้องเรียน ทำให้เชื่อว่าได้จะเกิด ความคล่องตัวและรอบด้านยิ่งขึ้น

 

ประการที่สี่ ควบคุมและลงโทษคนผิด ด้วยมาตรการทาง “อาญา ปกครอง และวินัย”

 

ปกติเมื่อมีเหตุร้องเรียน หน่วยงานต้นเรื่องมักรอให้ ป.ป.ช. หรือ สตง. สรุปผลการสอบสวนก่อน ทำให้คดีล่าช้ามาก เกิดความเสียหาย สร้างความเดือดร้อน ผู้คนไม่พอใจ คนโกงยิ่งได้ใจ

 

ดังนั้น การนำ “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ” มาใช้ จึงเป็นเรื่องเหมาะสม เพราะทำให้หัวหน้าหน่วยงานต้องร่วมรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นในหน่วยงานของตน ขณะที่การลงโทษทางปกครองและวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา สามารถทำได้รวดเร็ว ทำให้คนเกรงกลัวและหยุดยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที

 

อ่านข้อมูลทั้งหมดแล้วคุณคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมา ดีพอหรือยังครับ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,586 หน้า 10 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน 2563