"บิ๊กป้อม" ปัดถก "นิรโทษกรรม" แต่ "ปรองดอง" เป็นเรื่องที่ต้องทำ

19 มิ.ย. 2563 | 10:06 น.

บิ๊กตู่ เรียกถก กรรมการ ป.ย.ป. ของคสช. เคาะรื้อกรรมการเดิมทั้ง 14 ชุด ด้าน "บิ๊กป้อม" ปัดหารือเรื่องนิรโทษกรรม แต่ระบุ "ปรองดอง" เป็นเรื่องที่ต้องทำ

วันนี้(19มิ.ย.63) เวลา 13.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ครั้งที่ 1/2563 

 

ซึ่งคณะกรรมการป.ย.ป. ชุดนี้ เป็นการสานต่องานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 19/2561

ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ครั้งที่ 1/2563 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯให้สัมภาษณ์ภายหลัง การประชุมว่า "ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการ "นิรโทษกรรม" คดีทางการเมือง  ส่วนเรื่องการปรองดองนั้นเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว"

 

สำหรับบรรยากาศการประชุม นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งก่อนเริ่มการประชุมว่า ในการประชุมวันนี้ ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้จะต้องปรับให้เข้ากับรูปแบบ และ กฎหมายในปัจจุบัน ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยสิ่งที่มุ่งหวังคือ ทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์ชาติ เดินหน้าต่อไปได้ตามหลักการที่วางไว้ ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือ ยุทธศาสตร์ชาติ และ ประเทศชาติจะเดินหน้าไปด้วยดี ก็ขึ้นอยู่กับ 6 กลุ่มงานยุทธศาสตร์ 


"วันนี้ไม่จำเป็นต้องรื้อทั้งหมด เพียงแต่แผนงานและรูปแบบปฎิบัติ ต้องทำให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปัจจุบัน  โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอธิบายให้เข้าใจ โดยเฉพาะบรรดา ส.ส. และ ส.ว. ต่างๆ ที่ต้องเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ เพราะเป็นหลักการ และ หลักเกณฑ์ของประเทศ ที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง  ยั่งยืน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บิ๊กตู่ ดัน "นิรโทษกรรม" คดีการเมือง ปลดล็อกประเทศ เว้นทุจริต

"นิรโทษกรรม" เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม

"ปลดล็อก"เฟส 4 เอกชน จี้แก้‘ศก.’ ก่อน "นิรโทษกรรม" สีเสื้อ

 

ด้าน นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานป.ย.ป.  แถลงการประชุมว่า การทำงานของคณะกรรมการยุทธศาตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เมื่อกำหนดแผน กำหนดการทำงานทั้งหมด จะต้องลงไปสู่หน่วยปฏิบัติคือกระทรวง ทบวง กรม แต่ปัญหาอยู่ที่การขับเคลื่อนของกระทรวง ทบวง กรม จะมีหน่วยงานใดประสานเร่งรัดขับเคลื่อน ซึ่งคณะกรรมการป.ย.ป.จะะเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้ เพื่อเป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือสนับสนุน ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอผลงานที่สำคัญของป.ย.ป.ที่ผ่านมา ทั้งการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ การลดความเหลื่อมล้ำ การบูรณาการข้อสารสนเทศสำหรับผู้พิการการป้องกันปัญหากลุ่มควันนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่ และปฏิรูประบบร้องเรียน ร้องทุกข์ของประเทศโดยที่ประชุมมีมติเห็น และรับทราบโดยให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการทบทวนคณะกรรมการทำงานต่างๆเพื่อขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการปรองดอง จำนวน 14 ชุด โดยที่ประชุมได้มีมติยกเลิกคณะกรรมการทั้งหมดซึ่งโดยสภาพทางกฎหมายถือว่าคณะกรรมการต่างๆเหล่านี้สิ้นสุดลง เพราะเป็นการตั้งตามคำสั่งของนายกฯในรัฐบาลชุดก่อน ดังนั้นเมื่อมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ สถานะทางกฎหมายจึงสิ้นสุดลงและมี่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา 1 ชุด คือคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เพื่อขับเคลือนการปฏิรูปประเทศในส่วนที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข หรือตรากฎหมายในระยะเร่งด่วน