"ไพบูลย์ นิติตะวัน" ซิวเก้าอี้ ประธานกมธ.ตรวจสอบเงินกู้

18 มิ.ย. 2563 | 10:37 น.

"ไพบูลย์ นิติตะวัน" คะแนนโหวต 29 ต่อ 18 ชนะ "กนก วงษ์ตระหง่าน" นั่งประธานกรรมาธิการฯ ตรวจสอบพรก.เงินกู้

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.63 มีมติเห็นชอบให้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็น ประธานกมธ.ติดตามตรวจสอบเงินกู้ หรือ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับฯ วันนี้ถือเป็นนัดแรก โดยมีนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เป็นประธานการประชุมชั่วคราว ในฐานะผู้อาวุโสสูงสุด เพื่อทำหน้าที่เลือกผู้ทำหน้าที่ประธานกมธ.อย่างเป็นทางการ 

โดยบรรยากาศดุเดือดตั้งแต่เริ่มต้นการประชุม แต่สุดท้าย นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประรัฐ เป็นผู้เสนอชื่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ติดตามตรวจสอบเงินกู้ จากนั้นบรรยากาศการประชุมตึงเครียดขึ้นมา เพราะมีส.ส.ยกมือเพื่อขอภิปรายจำนวนมาก 

อาทิ ส.ส.ฝ่ายค้าน อย่าง นายมุข สุไลมาน รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานกมธ.คณะนี้ ต้องเป็นผู้ที่สังคมให้การยอมรับ เพราะการใช้งบประมาณตามพ.ร.ก.การกู้เงิน ประชาชนจับตาดูอยู่ จึงต้องให้คนที่ไว้วางใจได้ทำหน้าที่ ถ้าประธานไม่เป็นที่ยอมรับ ประชาชนก็จะร้องยี้ตั้งแต่แรก จึงอยากให้เห็นประโยชน์ และเอาควรเอาบุคคลที่มีความสามารถและมีปัญหาน้อยที่สุดใน 49 คน มาทำหน้าที่ประธานจะดีที่สุด โดยกมธ.สัดส่วนฝ่ายค้าน และซีกพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน เห็นด้วยกับสิ่งที่นายมุขอภิปราย 

ส่วนนายอดิศร เพียงเกษ กับ นายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้สนับสนุนให้นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน กมธ. โดยเห็นว่า แม้นายไพบูลย์จะมีความสามารถแต่ไม่มีความเหมาะสม เพราะจากข่าวเห็นว่า เป็นชื่อที่ถูกเสนอมาจากรัฐบาล การตรวจสอบงบก้อนนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ จึงขอให้นายไพบูลย์ถอนตัวแล้วให้นายกนกทำหน้าที่จะดีเพราะ เป็นที่ยอมรับ ไม่มีตำหนิ 

"หากนายไพบูลย์เป็นประธาน ผมจะลาออกจากกมธ.คณะนี้" นายอดิศร เพียงเกษ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัพเดท "พรก.เงินกู้" และ งบประมาณ ฟื้นฟูประเทศ หลังวิกฤติโควิด-19

สกัดโกง "เงินกู้" 1ล้านล้าน ฟื้น "ศอตช." งัด4กลไกคุมเข้ม

จากไทยเข้มแข็ง เงินกู้ 4 แสนล้าน เชื้อชั่วทุจริตไม่ยอมตาย

จากนั้น นายวิสาร เตชะธีรวัฒน์  เสนอให้มีการลงคะแนนลับ และหากนายกนก ไม่รับการเสนอชื่อ ฝ่ายค้านจะวอล์กเอาท์  ทำให้ น.ส.พัชรินทร์ ซําศิริพงษ์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอให้มีการลงคะแนนแบบเปิดเผย แต่ฝ่ายเลขานุการกมธ. ยืนยันว่า ตามข้อบังคับ เมื่อมีคู่แข่ง ต้องลงคะแนนแบบลับ โดยทั้งนายไพบูลย์ และนายกนก ไม่มีถอนตัว 

ด้านฝ่ายรัฐบาล นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า ประธานกมธ.คณะนี้ จำเป็นต้องได้คนที่มีความรู้ความสามารถมีความอาวุโสทั้งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ ซึ่งคนเห็นในกมธ.นี้ คิดว่า นายกนก วงษ์ตระหง่าน ถือเป็นผู้ที่เหมาะสม เพราะจากการฟังการอภิปรายในสภาฯ ถือว่า เป็นผู้ที่ปรารถนาดีในการรักษางบประมาณจากภาษีของประชาชน ถ้ารัฐบาลอยากให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นธรรมจำเป็นต้องใจกว้าง เพราะจะทำให้ตำแหน่งประธานสง่างามมากขึ้น ในฐานะที่เป็นส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ก็อยากเห็นอยากกมธ.มองที่ตัวบุคคลที่จะทำให้ภารกิจที่ได้รับเป็นประโยชน์สูงสุดของประชาชน

จากนั้นที่สุดได้มีการเปิดให้มีการลงคะแนนลับ โดยให้เขียนหมายเลขลงในคะแนนเพื่อกล่องลงคะแนนหน้าห้องประชุม โดยมีกมธ.ลงคะแนน 48 คน ขาด1 เสียง เนื่องจาก น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ไม่เข้าประชุม 

และในระหว่างการลงคะแนนได้นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้เดินเข้าไปพูดคุยกับกมธ.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ กมธ.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทย เพื่อให้เลือกนายไพบูลย์ นอกจากนั้นยังมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ได้โทรศัพท์มายังนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอคุยกับนายกนกให้ถอนตัว แต่นายกนกไม่คุยด้วย 

จนในที่สุดผลการลงคะแนนลับปรากฏว่า นายไพบูลย์ ชนะ นายกนก ด้วยคะแนน 28 ต่อ 19 โดยไม่ลงคะแนน 1 เสียง ได้เป็นประธานกมธ.วิสามัญ โดยใช้เวลาในการพิจารณานานเกือบ 2 ชั่วโมง