“ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” กับทฤษฎีว่าด้วยเศรษฐกิจการเมืองไทย

12 มิ.ย. 2563 | 06:25 น.

 ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รองอธิการบดี ม. รังสิต  ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา เขียนบทความแสดงความอาลัยต่อการเสียชีวิตของ "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ" ข้อความว่า 

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

 

หลายวงการจำ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ไปคนละทาง ไม่เหมือนกัน อาจารย์ไกรศักดิ์ หรือ ที่ผมเรียกว่า “พี่โต้ง” นั้นมีหลายผลงาน หลายคุณูปการ แต่ขอบันทึกไว้ให้รู้กันว่า ในวัยหนุ่มใหญ่ เคยเป็นนักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศ 

 

ในช่วงประมาณปี 2531-34 ในกระแสที่ถกเถียงกันว่าประเทศยังด้อยพัฒนาอยู่หรือไม่ มีโอกาสและศักยภาพที่จะไปเป็นทุนนิยมที่สมบูรณ์ได้หรือไม่  “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ที่จบการศึกษาจากมหาวิยาลัยลอนดอน  ( School of Oriental and Afrian Studies) ได้เขียนบทความชี้ว่าทุนนิยมไทยนั้นไม่ด้อยพัฒนา คือไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการครอบงำของทุนโลก”จักรพรรดินิยม สมัยใหม่” และทุนขุนนาง-ทุนราชการ  เหตุที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะมีทุนแห่งชาติ ที่กำเนิด เติบโต เข้มแข็งขึ้นมาไม่หยุดยั้ง ได้สำเร็จ 

 

ก็ในช่วงนั้นเอง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็เขียนดุษฎีนิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล อเมริกา ก็ชี้ว่าเมืองไทยเรานั้นไม่ใช่ “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา”อีกแล้ว เหตุเพราะทุนนิยมในไทยโดยรวมทุกประเภท รวมทั้งทุนชาติ นั้นได้พัฒนาจนมาเป็น “ด้านหลัก” ของเศรษฐกิจไทยแล้ว

ในช่วงเวลาเดียวกัน ผมเองก็เขียนดุษฎีนิพนธ์ ที่สหรัฐ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียว่าการเมืองไทย ณ บัดนั้นก็ไม่ใช่ “อมาตยธิปไตย” อย่างที่ เฟรด ริกกส์ ให้สูตรเอาไว้แล้ว เพราะเวลานั้นได้เกิดนักธุรกิจใหญ่ขึ้นมา เติบโตจนเป็นพลัง “นอกระบบราชการ” ได้แล้ว

 

บทความและดุษฎีนิพนธ์ ที่เขียนขึ้นมาทั้งสามชิ้นนี้ ดูเหมือนกับร่วมกันคิดร่วมกันเขียน แต่ที่จริง ต่างคน ต่างคิด ต่างเขียน ล้วนชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจการเมืองไทยครั้งใหญ่ เมืองไทยได้เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยครั้งสำคัญทีเดียว

 

แม้งานสามชิ้นนี่จะออกมาสู่บรรณพิภพในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ของ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ” ออกมาก่อนเพื่อน ผมจึงจดจำท่านในฐานะนักคิด “นอกกรอบ” ที่เก่งกาจได้แม่นยำ ในวันที่ท่านจากเราไปอย่างสงบแล้ว จึงขอร่วมระลึกและชื่นชมท่าน นึกถึงคุณูปการใหญ่หลวงที่ท่านมีต่อวงการรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวงการพัฒนา ที่ว่าด้วยเมืองไทย ดังที่กล่าวมาข้างต้น

 

ขณะเดียวกัน ก็ขอส่งความรำลึกถึง ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หรือ “พี่เสก” ของผม ท่านอายุ 70 แล้ว ขอพรพระจงดลให้พี่ท่านสุขภาพแข็งแรง ผลิตงานดีๆ ในทุกๆ ด้าน ให้เราได้อ่าน ได้เรียนรู้กันต่อไป

 

ผมเอง เด็กที่สุด ในสามคน ก็อายุ 66 ปี เข้าไปแล้ว พยายามรักษาสุขภาพบ้างแล้ว
 

 

พี่โต้ง และพี่เสกนั้น ท่านใช้ ทฤษฎี แนว Marxian ที่มีนวัตกรรมสูง ในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ของท่าน ส่วนผม แม้จะรู้แนวทางแบบ Marxist หรือ Marxian อยู่บ้าง แต่ก็ใช้ แนวรัฐศาสตร์แบบที่ไม่ใช่ Marxist หรือ Marxian ใช้แนวแบบ Fred Riggs นั่นแหละเป็นสำคัญ

 

น่าสังเกต ข้อสรุปเราทั้งสามคนนั้นไปด้วยกันได้ แทบจะตรงกัน คือในช่วงปลาย พล.อ. เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีนั่น เราอยู่ในประเทศที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว เราก้าวออกมาจากความล้าหลังและยากจนได้มากทีเดียว และอีกไม่กี่ปีต่อจากนั้น พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรี และโลกก็จะเริ่มมองว่าไทยจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Indusrializing Economy)