"เงินกู้4แสนล้าน" ระอุ “ก้าวไกล” จับตาเปลี่ยนขุนคลัง ห่วงยัดไส้งบฟื้นฟู

05 มิ.ย. 2563 | 11:07 น.

ลูกพรรคก้าวไกล ข้องใจ พปชร.เปลี่ยนหัวหน้า-กรรมการบริหาร หวังเปลี่ยนคนคุมงบโควิด ห่วงก๊วนการเมือง วิ่งเต้นแย่ง "เงินกู้4แสนล้านบาท"

พรรคก้าวไกล จับตาการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐ กับ เงินกู้4แสนล้าน ฟื้นฟูวิกฤติโควิด19

วันที่ 5 มิ.ย.63  นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกระแสการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคและผู้บริหารของพรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) หลังการลาออกของกรรมการบริหารพรรค 18 คน โดยระบุว่า อาจจะเป็นแค่เรื่องภายในของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง แต่ถ้าพิจารณาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ 3 เหตุการณ์ ดังต่อไปนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องช่วยกันจับตาอย่างใกล้ชิด คือ 

 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

1. การปรับ ครม. ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มีบทบาทอย่างมากใน พ.ร.ก 3 ฉบับ ซึ่งมีวงเงินรวมกันสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท ในการกลั่นกรอง วินิจฉัย กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆในทางปฏิบัติ โดยวงเงินที่สูงถึง 1.9 ล้านล้านบาทเป็นเป้าหมายอันหอมหวน

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ด้วยเงื่อนเวลาที่พอเหมาะพอเจาะและปรากฏการณ์ชุลมุนเกี่ยวกับงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท จึงเป็นข้อสังเกตที่ประชาชนต่างจับจ้อง และสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะผู้บริหาร ของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ และสิ่งที่ประชาชนทุกๆ คน ต้องร่วมกันติดตามต่อไปจากนี้ก็คือ โครงการเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่กำลังจะเกิดขึ้นเต็มไปหมดนั้นมีโครงการอะไรบ้าง เป็นโครงการที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่โครงการละลายงบ ที่เอาคำว่า “สู้ภัยโควิด” มาต่อท้าย

“เช่น เปลี่ยนหลอดไฟสู้ภัยโควิด ขุดบ่อน้ำบาดาลสู้ภัยโควิด ศาลาพักใจสู้ภัยโควิด ขุดลอกคูคลองสู้ภัยโควิด เดินท่อประปาใหม่สู้ภัยโควิด ฯลฯ หรือเปล่า  มีการกำหนดสเปคที่เกินจำเป็น เพื่อลอกสเปคให้กับผู้รับเหมา หรือผู้ประกอบการรายใดหรือไม่ ราคาในการจัดซื้อจัดจ้าง และเงื่อนไขในการบริการหลังการขาย เมื่อเทียบกับราคาตลาด แล้วเป็นอย่างไร และผู้ที่ชนะการประมูล นั้นมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองคนใด” นายวิโรจน์ระบุ 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า เงิน 4 แสนล้านบาทนี้ มีบางคนเคยเถียงว่า ที่ผ่านๆมา ไม่เห็นต้องมีประชาชนควักเงินไปจ่ายหนี้ให้กับรัฐบาลเลย แต่การใช้หนี้ของรัฐบาลจะต้องเบียดบังเอาเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนไปจ่ายชำระหนี้และดอกเบี้ยที่เคยกู้มา ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ต้องนำเอาเงินไปชำระหนี้ รัฐบาลก็จะมีงบประมาณที่มากขึ้น ในการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประชาชนคนไทย มีงบประมาณมากขึ้นที่จะนำมาอุดหนุนเพื่อปรับปรุงสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคนให้ดีขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วมข่าว เงินกู้4แสนล้านบาท 

"พ.ร.ก." สู้ "ไวรัส" … ช่วยได้จริงหรือ

“ส.อ.ท.” ผนึก “แบงก์รัฐ” ดันภาคอุตสาหกรรมฝ่า "โควิด"

2.การพิจารณาโครงการกรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่จะเสนอเข้า ครม. ในวันที่ 7 ก.ค. นี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กรอบหลักเกณฑ์ของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทเป็นกรอบที่กว้างมากๆและเอื้อให้ฝ่ายต่างๆจากหลายมุ้งการเมือง พยายามที่จะวิ่งเอาโครงการสัพเพเหระทั่วไปมาปัดฝุ่น ยัดไส้ เติมคำว่า “สู้ภัยโควิด” ต่อท้ายที่ชื่อโครงการ แล้วเอามาของบประมาณเพื่อนำไปแบ่งกันปันหัวคิว


“ช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายมุ้งทางการเมือง วิ่งเต้นแย่งงบ วิ่งกันลอกสเปคกันให้วุ่น ประกอบกับการที่มีข่าวที่ลือกันในสภาว่า มีการฮั้วกัน เพื่อปิดปาก ส.ส. โดยมีการกันงบประมาณไว้ให้กับ ส.ส. คนละ 80 ล้านบาท โดยจะฝากงบประมาณเอาไว้ที่งบจังหวัด แล้วให้ ส.ส. วิ่งเข้าไปชี้ เข้าไปลอกสเปค ว่าจะทำโครงการอะไร ให้ผู้รับเหมาคนไหนเป็นคนทำ ซึ่งสุดท้ายก็คงหนี้ไม่พ้นค่าหัวคิว และเงินทอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา” นายวิโรจน์ระบุ

ดังนั้นภาระของการใช้หนี้ก้อนหนี้ของประชาชนคนไทย ก็คือ การต้องยอมให้ประเทศชาติล้าหลัง ต้องพัฒนาได้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ต้องยอมให้ลูกหลานของพวกเราต้องทนกับสภาพความเป็นอยู่ที่มันควรจะดีกว่านี้ได้ไปอีกนับสิบๆปี นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ประชาชนคนไทยทุกคน ต้องร่วมกันตั้งข้อสังเกต และติดตาม กำกับเรื่องราวทุกเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ก้อนมหาศาลในครั้งนี้