เลือกตั้งใหม่ ก.ก.บห.พลังประชารัฐ“ส่อป่วน”

01 มิ.ย. 2563 | 09:36 น.

  การเลือกตั้ง “ก.ก.บห.พลังประชารัฐ”ใหม่ ไม่ใช่จะราบรื่นและเกิดขึ้นได้เร็ว เพราะติด “พรก.ฉุกเฉิน” และต้องอาศัย“เสียงส่วนใหญ่”ของสมาชิกพรรค

การเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร้อนระอุขึ้นมาท่ามกลางปัญหา “โควิด-19” ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่ “รัฐบาลบิ๊กตู่” กำลังเข้าสู่ “โหมดฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ฟื้นฟูประเทศ ด้วยงบประมาณจาก “พรก.กู้เงิน” 400,000 ล้านบาท

เพราะอยู่ๆ ก็มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ ยื่นลาออกจากกรรมการบริหารพรรค (ก.ก.บห.) 18 คน จากที่มีอยู่ทั้งหมด 34 คน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงว่า กรรมการบริหารพรรคที่ยื่นลาออก 18 คน ประกอบด้วย

1.นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายสุพล ฟองงาม 4.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 5.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 7.นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ 8.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส 9.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

10.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 11.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. 12. นายสกลธี ภัทรธิยกุล 13.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ 14. นายสุรชาติ ศรีบุษกร ส.ส.พิจิตร 15.นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง 16.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ18.นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นายไพบูลย์ ระบุว่า หลังจากกรรมการบริหารพรรคลาออกเกินกึ่งหนึ่ง มีผลให้กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่ง และจะมีการจัดประชุมเลือกกรรมการบริหารชุดภายในเวลา 45 วัน ตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ นับแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 เป็นต้นไป พร้อมยื่นหนังสือเพื่อให้รักษาการหัวหน้าพรรคเรียกกรรมการบริหารพรรคประชุมสามัญเพื่อเลือกกรรมการชุดใหม่โดยเร็ว

การเปลี่ยนแปลง “ก.ก.บห.พลังประชารัฐ” ที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ ตามเป้าหมายเดิมนั้น ต้องการ ผลักดัน บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานยุทธศาสตร์พรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค แทน นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม พร้อมกับจะมีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค จาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เป็น นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง

พร้อมกับมองไปที่การปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยแกนนำที่เคลื่อนไหวจากหลายสาย และวางตัวพร้อมนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี หากปฎิบัติการยึดพรรคสำเร็จ  อาทิ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ จะเป็นเลขาธิการพรรค และเป็นรมว.คลัง  ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จากโฆษกรัฐบาล จะเป็น รมช.คลัง นายณัฐพล ทีปสุวรรณ จากรมวศึกษาธิการ ต้องการเป็น รมว.พลังงาน  นายอนุชา นาคาศัย จะเป็น รมว.ศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น จะเป็นรมว.การอุดมศึกษาฯ

อย่างไรก็ตาม การจะเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่ตามระเบียบพรรคต้องเลือกตั้งกันใหม่ ภายใน 45 วัน และต้องอาศัย “เสียงส่วนใหญ่” ของสมาชิกพรรค

แต่ระเบียบพรรคที่เขียนไว้กว้างๆ ทำนองว่า ผู้ที่จะลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคใหม่ต้องมาจาก

1. ส.ส.ของพรรค

2. สมาชิกพรรค

3 ประธานสาขาพรรค

ทั้งนี้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ คือ วันใดที่มีการเรียกประชุมใหญ่พรรค เพื่อเลือกกรรมการบริหารใหม่ จะมีการยื่นญัตติต่อที่ประชุมว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกกรรมการบริหารพรรคเป็นใครบ้าง

ถ้าการเลือกตั้งใหม่ ใช้เฉพาะเสียงของ ส.ส ก็จะเกิดปัญหา “ไม่ยึดโยงกับประชาชน” หรือ หากให้ “สมาชิกพรรค” มีสิทธิ์ออกเสียงร่วมโหวดเลือก “กรรมการบริหารพรรค” ด้วย ก็จะเกิดการแบ่งขั้ว “เกณฑ์สมาชิกพรรค” ให้มาร่วมประชุม และเกิดการ “ล็อบบี้” กันอย่างคึกคัก

แน่นอน “ความปั่นป่วน” ในพลังประชารัฐรออยู่ข้างหน้า    

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ จะมีการยกเลิก “ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เมื่อไหร่ และ พลังประชารัฐ จะเรียกประชุมใหญ่พรรคได้ตามกำหนดหรือไม่

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยกำลังต่อสู้กับ “ไวรัสโควิด-19” และยังตรึง “พ.ร.ก.ฉุนเฉิน” เอาไว้อยู่ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ จะยกเลิกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้หรือไม่ หรืออาจจะมีการต่อไปอีก 1 เดือน จนสิ้นสุดเดือน ก.ค. ก็ไม่รู้ได้

 นอกจากนั้น สมมติหากมีการยกเลิกประกาศใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” คงไม่ใช่เฉพาะเพื่อให้ “พลังประชารัฐ” ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคใหม่ได้เท่านั้น

แต่จะเป็นการเปิดให้มีการ “เคลื่อนไหวทางการเมือง” ได้ตามปกติ

สิ่งที่จะตามมาคือ “ม็อบการเมือง” ที่จะออกมาเคลื่อนไหว (มีแน่ๆ) ปั่นป่วน “รัฐบาลลูงตู่” แล้วรัฐบาลจะยอมหรือ ที่จะให้ยกเลิกประกาศใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” โดยเร็ว ตราบที่เชื้อโรคโควิด-19 ยังไม่จางหายไปจากประเทศไทย

ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่ “ลุงตู่” จะตัดสินใจ...