ปูด”เอสเอ็มอี”รายใหญ่ กู้ซอฟต์โลนเล่นหุ้น-ปล่อยกู้ต่อ

30 พ.ค. 2563 | 07:10 น.

ประชุมสภา ชำแหละ “พรก.กู้เงิน” ส.ส.พรรคก้าวไกล ปูดเอสเอ็มอีรายใหญ่ กู้ซอฟต์โลนไปเล่นหุ้น-ปล่อยกู้ต่อ ฟันกำไร ข้องใจเอื้อทุนใหญ่

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตอนหนึ่งว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท เอื้อให้กับการกระจายสินเชื่อไปยังกลุ่มทุนใหญ่ ไม่ใช่กลุ่มเอสเอ็มอีโดยตรงเนื่องจากมีเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงเงื่อนไขดังกล่าวได้ เพราะมีหลักเกณฑ์ให้กู้ได้เฉพาะธุรกิจที่มีหลักทรัพย์ค้ำประก้นหรือมีสินเชื่อกับธนาคารเท่านั้น  

 "ปัจจุบันมีธุรกิจเอสเอ็มอี 3 ล้านราย แบ่งเป็นเอสเอ็มอีที่มีสินเชื่อกับธนาคาร 1.9 ล้านราย และเอสเอ็มอีอีก 1.1 ล้านราย ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินกู้ครั้งนี้ เนื่องจากไม่มีสินเชื่อและหลักประกันกับธนาคาร เพราะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เช่นร้านกาแฟเล็กๆริมทาง รีสอร์ตเล็กๆ แต่ธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน แต่ไม่มีสิทธิได้กู้ เอสเอ็มอีเล็กๆ 1.1 ล้านราย จึงถูกขีดออกไปไม่ให้กู้

สมมติเอสเอ็มอีมีหนี้ 1 ล้านบาท กู้ได้ 2 แสนบาท แต่มีลูกจ้าง 10 คน กู้ได้แค่นี้จะไปได้กี่น้ำ แต่ถ้าบริษัทใหญ่ มีหนี้ 500 ล้านบาท กู้ได้ 20% หรือ 100 ล้านบาท ก็สามารถกู้ไปทำอะไรได้หมด นี่คือ พ.ร.ก.ที่ฉ้อฉล หรือมีวาระซ่อนเร้น เพื่อเอื้อต่อทุนใหญ่หรือไม่” นายธีรัจชัย ตั้งคำถาม

ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายด้วยว่า ตนได้รับข้อมูลว่า ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งที่เป็นลูกหนี้ชั้นดีของธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุมัติกู้เงิน และนำเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ได้ ปล่อยกู้ต่อหรือเอาไปเล่นหุ้น เพื่อหวังกำไร

ด้าน นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย อภิปรายตำหนิรัฐบาล ว่าสิ้นคิด หลังจากที่ได้เห็นเนื้อหาของ “พ.ร.ก.กู้เงิน” จำนวน 6 หน้า แต่ไม่มีแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ขณะที่พบแต่แนวทางเพื่อช่วยเหลือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ 

ทั้งนี้กลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศไทย มีประมาณ 3 ล้านราย และมีเพียง 4.8 แสนราย ที่อยู่ในระบบสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และหากดูเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นเอ็นพีแอลด้วย จะทำให้เอสเอ็มอี ที่ได้สิทธิช่วยเหลือจากรัฐบาล เพียง 3 แสนราย

และถ้าใครสภาพคล่องแย่ รวมทั้งไม่มีหลักประกันก็จะถูกตัดออกไปอีก แล้วสุดท้ายจะเหลือกี่ราย ดังนั้น จึงชัดเจนว่า อุ้มคนรวย การที่บอกว่าช่วยผู้ประกอบการจึงหายไปจากสมการ

 "รัฐบาลต้องแก้ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการ เป็นเวลาที่รัฐบาลจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ใช้เอสเอ็มอีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องชดใช้บุญคุณให้กับประชาชนด้วยความจริงใจและมีผลที่จับต้องได้” นางสาวสรัสนันท์ แนะนำ